23 ตุลาคม 2554, 05:00 น.
http://www.thairath.co.th/column/pol/wikroh/211124
“สึนามิน้ำจืด” ทะลักพลั่กๆ ซัดทลายคันกั้นน้ำคันแล้วคันเล่า
ไม่ต่างอะไรกับ “ข้าศึกกองทัพน้ำ” ที่กำลังฮึกเหิม ตีตะลุยป้อมค่าย ฝ่าด่านสกัดตามหัวเมือง กรีธาทัพบุกเข้าโอบล้อมเมืองหลวง
มาถึงวันนี้ ไพร่พลกองทัพน้ำจำนวนมหาศาล ไหลหลากเข้ามาถึงพื้นที่ชานเมืองหลายเขตของกรุงเทพมหานคร
สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้คนกรุงเทพฯตกอยู่ในอาการอกสั่นขวัญแขวน หวั่นผวา “จิตตก” กันไปทั้งบ้านทั้งเมือง
ไม่รู้ว่ามหาวิกฤติน้ำจะทะลักเข้าท่วมอาคารบ้านเรือนของตัวเองตอนไหน เมื่อไหร่
ยิ่งมีการประกาศเตือนจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตคลองสามวา หนองจอก มีนบุรี คันนายาว ลาดกระบัง สายไหม บางเขน ย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูงให้เกินกว่าระดับน้ำที่อาจสูงขึ้นอีก 1–1.20 เมตร
ตามด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาสำทับว่า น้ำตอนบนเหนือกรุงเทพฯ ไหลผ่านทุ่งรังสิตกว่า 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร กระทบต่อคันกั้นน้ำด้านตะวันออก
อาจทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ 7 เขต ได้แก่ เขตสายไหม บางเขน คลองสามวา หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง และคันนายาว ขอให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมยกสิ่งของขึ้นที่สูง
แม้ผู้ว่าฯ กทม. เน้นย้ำว่าเป็นการแจ้งเตือนครั้งแรก ยังไม่รุนแรงถึงขั้นอพยพ และขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม เพียงแค่มีการส่งสัญญาณเตือนออกมาจาก 2 หน่วยงานหลัก ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการวิกฤติน้ำที่กำลังโหมบุกเข้าโจมตีกรุงเทพฯ
ประชาชนทั่วไปก็เริ่มมีอาการหวั่นวิตก สัญชาตญาณระแวงภัยบ่งบอกทันที สถานการณ์ภัยน้ำใกล้ตัวเข้ามาแล้ว
ยิ่งในห้วงที่ผ่านมา ทุกคนได้เห็นการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำท่วมของรัฐบาล ผ่านการบัญชาการของ ศปภ. ก็ยิ่งทำให้เกิดความหวาดผวา
เพราะผลงานที่ปรากฏเห็นๆกันอยู่คาตา ตั้งแต่น้ำเข้าท่วมภาคเหนือไหลทะลักเข้าสู่พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง
กองทัพน้ำจำนวนมหาศาลถาโถมเข้าใส่จังหวัดต่างๆอย่างรุนแรง จนป้อมค่ายแนวป้องกันพังทลายแตกกระเจิงไปทีละด่าน นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี หลายเมืองหลายพื้นที่จมบาดาล
น้ำท่วมมิดหลังคา เรือกสวนไร่นาบ้านเรือน ถนนหนทาง เสียหายยับเยิน พี่น้องประชาชนนับแสนนับล้านครอบครัวต้องประสบความเดือดร้อนแสนสาหัส หมดเนื้อหมดตัว อดอยาก ไร้ที่อยู่อาศัย
โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมสำคัญๆในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ที่ถือเป็นหัวใจของภาคเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลประกาศว่าต้องปกป้องเอาไว้ให้ได้
แต่สุดท้ายโดนน้ำท่วมจมบาดาลไปทีละแห่ง ไล่ตั้งแต่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมนวนคร นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี
โดยที่รัฐบาล และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าสั่งอพยพคนออกนอกพื้นที่
ซึ่งก็เป็นไปด้วยความฉุกละหุก สับสนอลหม่านกันไปหมด เพราะขาดความพร้อม ทั้งเรื่องการแจ้งเตือนภัยที่ล่าช้า การอพยพลำเลียงคน และการรองรับผู้อพยพ
ภาพความรุนแรงของกระแสน้ำ ความเสียหายของสถานที่ ความสับสนวุ่นวาย ที่เกิดจากการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติของรัฐบาล
ประเภทที่ประกาศว่าเอาอยู่ ป้องได้แน่ แต่ยังไม่ทันข้ามวันน้ำทะลักท่วมมิดหัว
ทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือการทำงานแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำท่วมของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของรัฐบาล
เพราะการทำงานที่ผ่านๆมาดูแล้วสับสน ไม่เป็นระบบ
ไล่ตั้งแต่การจัดตั้ง ศปภ.ที่ให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว. ยุติธรรม มาเป็น ผอ.ศปภ. แทนที่จะมอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัย-ดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย มารับผิดชอบในส่วนนี้
เพราะโดยตำแหน่ง รมว.มหาดไทย มีภาระหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนโดยตรงอยู่แล้ว
อีกทั้งยังเป็นผู้บังคับบัญชาสายตรงของข้าราชการมหาดไทย โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์กรปกครองท้องถิ่น ไปจนถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงมหาดไทย
การตั้ง พล.ต.อ.ประชาจึงถูกมองว่า ผิดฝาผิดตัว ใช้คนไม่ถูกกับงาน ยิ่งมีการวางตัวโฆษก ศปภ.ที่อ่อนประสบการณ์ มีการแย่งคิว แย่งซีน หวังโชว์ผลงาน
ข้อมูลข่าวสารที่ออกมาจึงยิ่งสร้างความสับสนให้กับประชาชน ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือจากผู้คน เป็นผลให้ความเชื่อมั่นในการทำงานของ ศปภ.หดหายไปด้วย
เมื่อสถานการณ์ภัยน้ำบุกเข้าประชิดกรุงเทพฯ คนเมืองหลวงจึงต้องช่วยตัวเอง ปกป้องตัวเองไว้ก่อน ปกป้องได้แค่ไหนก็แค่นั้น
อย่างในช่วงที่น้ำจากจังหวัดปทุมธานีไหลหลากผ่านประตูระบายน้ำเชียงรากน้อย ทำให้น้ำไหลลงคลองประปา ส่งผลให้น้ำในคลองประปาล้นทะลักท่วมถนนใกล้แยกศรีสมาน ถนนสรงประภา แขวงสีกัน เขตดอนเมือง ในช่วงกลางดึก
ปรากฏว่า เมื่อประชาชนในบริเวณโดยรอบที่ไม่ยอมหลับยอมนอน คอยติดตามสถานการณ์ทราบข่าว ต่างก็แตกตื่นรีบอพยพออกจากพื้นที่กันจ้าละหวั่น
ขับรถขึ้นไปจอดหนีน้ำอยู่บนทางด่วนแจ้งวัฒนะเต็มพรืดไปหมด จนเป็นเหตุให้การจราจรติดขัดเป็นวงกว้างหลายชั่วโมง
สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ตื่นกลัวภัยพิบัติน้ำของคนกรุงเทพฯ สะท้อนให้เห็นถึงสัญชาตญาณที่ต้องปกป้องตัวเองในยามมีภัย
ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เป็นธรรมชาติของมนุษย์
ส่วนผู้คนจำนวนไม่น้อยก็อยู่ในสภาพรอรับชะตากรรมท่องคาถา อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด ยกของขึ้นที่สูง ไม่ย้ายหนีไปไหน
เพราะถือว่าได้มอบหน้าที่ในการบริหารจัดการแก้ไขวิกฤติน้ำท่วมให้แก่รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปหมดแล้ว
แต่เมื่อหันมาทางรัฐบาล ก็อย่างที่เห็นและได้สัมผัสกันมาตั้งแต่ช่วงแรกๆที่พี่น้องประชาชนในภาคกลางเผชิญวิกฤติน้ำท่วม นั่นก็คือ
การวางแผนแก้ปัญหาของรัฐบาลเป็นไปแบบเก้ๆกังๆ
โดยคณะรัฐมนตรีได้ตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการช่วยเหลือประชาชนเป็นไปแบบบูรณาการ
แต่ในสภาพความเป็นจริง การทำงานของศูนย์แห่งนี้ยังมีปัญหาติดขัด เพราะหน่วยงานแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำกระจัดกระจายอยู่กันคนละกระทรวง
การทำงานที่ออกมาจึงเป็นแค่การรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละวันเท่านั้น ไม่ได้เป็นการบูรณาการการแก้ปัญหาวิกฤติน้ำท่วมอย่างแท้จริง
เมื่อสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติ น้ำทะลักเข้าท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปแล้วทั้งเมือง วิกฤติพิบัติภัยน้ำท่วมจ่อชายขอบกรุงเทพมหานคร
นายกฯยิ่งลักษณ์จึงเรียกประชุมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) โดยมอบให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็น ผอ.ศปภ.
แต่จากปัญหาการวางคนผิดฝาผิดตัว แถมยังมีบรรดาผู้อำนาจ รวมไปถึงแกนนำจากบ้านเลขที่ 111-109 ที่รู้เรื่องน้ำจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เข้ามาร่วมสั่งการ แบบทีมใครทีมมัน
การทำงานของทีมแก้ปัญหาพิบัติภัยน้ำท่วม จึงเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ขาดความเป็นเอกภาพ
แถมยังมีปัญหาเรื่องการประสานข้อมูล และการประสานงาน ทั้งในส่วนของกรมชลประทาน และผู้ว่าฯ กทม. ทำให้การปฏิบัติเรื่องการระบายน้ำเกิดความติดขัด
รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งกับนักการเมืองทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ ที่ออกมาขัดขวางการระบายน้ำ ทำลายแนวคันกั้นน้ำตามจุดต่างๆ จนทำให้การระบายน้ำไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
ผลลัพธ์ก็คือ การแก้วิกฤติน้ำท่วมล้มเหลว
แม้กระทั่งน้ำทะลักเข้ามาในกรุงเทพมหานครบางเขตบางพื้นที่แล้ว ก็ยังเคลียร์กันไม่ลงระหว่าง ศปภ.กับผู้ว่าฯ กทม.ว่าจะประสานการระบายน้ำกันอย่างไรให้ลงตัว
ถึงแม้นายกฯยิ่งลักษณ์ได้หาทางออกด้วยการออกคำสั่งตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาตรา 31 กรณีภัยพิบัติร้ายแรง
หวังใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้หน่วยงานต่างๆปฏิบัติตามคำสั่งไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ
แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะง่ายดายอย่างที่คิด เพราะแต่ละหน่วยงานก็มีกฎหมายหลักที่กำหนดภาระหน้าที่ของตัวเองเอาไว้ชัดเจนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากการบริหารแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมของรัฐบาลยังมีปัญหา ยังไม่สามารถปรับจูนยกเครื่อง ศปภ.ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ “ข้าศึกกองทัพน้ำ” ทะลักทะลวงเข้ายึดพื้นที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย
รัฐบาลโดยนายกฯหญิง “ยิ่งลักษณ์” ก็ยังมีเครื่องมืออีกอันหนึ่ง ก็คือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
กระชับอำนาจบริหารสั่งการทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ที่นายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินบางเขตบางพื้นที่
เพื่อระดมสรรพกำลังแก้ปัญหา ปัดป้องและเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะที่ฉุกเฉินและร้ายแรง ได้อย่างเต็มที่และมีเอกภาพ
ยามนี้ประชาชนนับแสนนับล้านกำลังเผชิญภัยพิบัติที่ฉุกเฉินและร้ายแรงจากวิกฤติมหันตภัยน้ำท่วมประเทศ มีความเสี่ยงถึงชีวิต
จึงขึ้นอยู่กับนายกฯว่าจะใช้เครื่องมือสุดท้ายนี้เพื่อกู้ชีพให้ประชาชนหรือไม่
หรือจะปล่อยให้ลอยไปตามสายน้ำ.
“ทีมการเมือง”
ไทยรัฐออนไลน์
- โดย ทีมการเมือง
- 23 ตุลาคม 2554, 05:00 น.