12 ตุลาคม 2554, 22:48 น.
http://www.thairath.co.th/content/eco/208842
ธปท.รับการพิจารณาดอกเบี้ยรอบ 19 ต.ค.นี้ ปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมมีมากขึ้น เพิ่มจากปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจในต่างประเทศ ชี้นโยบายดอกเบี้ยไม่สามารถดูแลเศรษฐกิจเฉพาะจุดได้ แต่ต้องใช้ดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมระยะยาว เพราะนโยบายการเงินกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลา 4-8 ไตรมาส
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การพิจารณานโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯได้พิจารณาการทำนโยบายการเงินอย่างละเอียดรอบคอบอยู่แล้ว แต่การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายรอบการประชุมกนง.ในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศ โดยเฉพาะจากปัญหาหนี้สหรัฐฯ และยุโรป และปัจจัยในประเทศ จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศในตอนนี้ ดังนั้นในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยในรอบที่จะถึงนี้ กนง.คงต้องพิจารณาว่า บทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมของนโยบายการเงินจะเป็นอย่างไรในการดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม
“นโยบายการเงินหรือนโยบายดอกเบี้ย คงไม่สามารถดูแลเศรษฐกิจในระดับไมโคร หรือไปดูแลเฉพาะจุดได้ ซึ่งถือว่าปัญหาน้ำท่วมเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นชั่วคราวระยะสั้น แต่นโยบายดอกเบี้ยจะต้องดูแลระบบเศรษฐกิจภาพรวมในระยะยาว โดยกนง.ได้ตระหนักว่า เครื่องมือดอกเบี้ยนโยบาย กว่าจะเห็นผลจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-8 ไตรมาส ดังนั้นเราก็ต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาวเป็นหลัก โดยจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า อะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงชั่วคราว อะไรที่เป็นความเสี่ยงถาวรต่อเศรษฐกิจ ซึ่งกนง.จะไม่ดูปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นมาใช้ในการพิจารณาอัตราดอกบี้ย” นายไพบูลย์ กล่าว
ด้าน นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. ยอมรับว่า วิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ขณะนี้ จะมีผลให้อัตราขยายตัวการส่งออกปี 2554 นี้ปรับตัวลดลงบ้างในระยะสั้น แต่เป็นเพียงในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ที่ส่วนใหญ่เป็นโรงงาน อาทิ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ต้องส่งต่อไปผลิตสินค้าอื่นๆต่อไป
“ปัญหาน้ำท่วม น่าจะส่งผลให้การส่งออกปีนี้ลดลงบ้างในบางอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาการส่งมอบสินค้าไม่ทันที่กำหนด รวมถึงปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต แต่อย่างไรก็ตามปัญหาน้ำท่วมยังไม่จบ ทำให้ไม่สามารถประเมินผลได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อไปก่อน” นายทรงธรรม กล่าว
นายทรงธรรม กล่าวต่อว่า ในการประชุมกนง. ในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาจากการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทยเป็นหลัก แม้ว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพราะมีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลงจากเป้าที่ตั้งไว้เฉลี่ย 5%
ไทยรัฐออนไลน์
- โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
- 12 ตุลาคม 2554, 22:48 น.
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- 216 ข่าว
- ไม่มีรูปภาพที่เกี่ยวข้อง
- ไม่มีข้อมูลบุคคลที่เกี่ยวข้อง