ต่างชาติเก็บเงินผวาการเมืองไทย

1 กรกฎาคม 2554, 05:15 น.

ต่างชาติเก็บเงินผวาการเมืองไทย.

Pic_182994

รองผู้ว่าฯธปท.สายเสถียรภาพการเงิน ระบุ นักลงทุนทั้งในและตปท. จับตาการเมืองหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะได้เสียงข้างมาก เงินทุนตปท.จะไม่เข้ามาลงทุนในไทยทันที…

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งขึ้นวานนี้ (30 มิ.ย.) เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซที่ผ่านไปอีกช่วง ทำให้ค่าเงินเกือบทุกสกุลในโลกแข็งขึ้นตามทิศทางของเงินยูโร แต่ต้องจับตามองทิศทางของการแก้ปัญหาต่อไป ส่วนการไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) 2 นั้น ไม่น่ากระทบการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ

สำหรับปัจจัยในประเทศยอมรับว่านักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ กำลังจับตาสถานการณ์ในประเทศของไทย โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้ง โดยมองว่าหลังจากเลือกตั้งเสร็จสิ้น ในวันที่ 3 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะได้เสียงข้างมาก เงินทุนต่างประเทศจะยังไม่ไหลกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยทันที โดยมีปัจจัย 2-3 เรื่อง คือการทำตาม และเคารพกติกาประชาธิปไตยหรือไม่ การทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ซึ่งนโยบายขณะนี้ไม่แตกต่างกัน และสุดท้ายพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ซึ่งขณะนี้ยังดีอยู่

“เงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนต่อเมื่อเหตุการณ์สงบจริงๆ ช่วงนี้ ต่างชาติน่าจะรอดูสถานการณ์ก่อน เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเขาไม่แน่ใจ การเมืองของเรา ถ้าการเมืองสงบ รัฐบาลใหม่ทำงานต่อไปเงินจะกลับเข้ามา แต่หากกลับไปเป็นเหมือนเดิมมีความแตกแยก หรือความรุนแรง มีความเป็นไปได้ที่เงินที่ไหลออกไปจะไม่กลับเข้ามาประเทศไทยอีก”

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการคลัง จากนโยบายพรรค การเมืองว่า หากมองจากด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ธปท.มองว่ากรอบการขาดดุลงบประมาณในปี 2555 ที่ได้วางกรอบไว้ ก่อนหน้านี้ 350,000 ล้านบาท ยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม ดังนั้น การส่งสัญญาณการใช้จ่ายรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลังการเลือกตั้ง อาจจะเป็นสัญญาณที่ไม่เหมาะสมต่อตลาดการเงินที่เรามีปัญหาเงินเฟ้ออยู่

ทั้งนี้ ธปท.และภาคเอกชนกำลังจับตาในการแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่จะมีความชัดเจนในเรื่องการใช้จ่ายและหาเงินอย่างไร ถ้านโยบายการ คลังดูแลอย่างดี การใช้นโยบายการเงิน หรือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต่อไปก็อาจจะไม่ต้องปรับเพิ่มขึ้นมากนัก แต่หากนโยบายการคลังมี การใช้จ่ายที่ส่งปัญหากับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การดูแลเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินของ ธปท.ในช่วงต่อไปอาจจะต้องเข้มงวดมากขึ้น

ผู้ว่าการ ธปท.ยังแสดงความเห็นต่อแนวนโยบายของพรรคการเมืองใหญ่ ที่มีความเห็นว่า หากเป็นรัฐบาลจะกลับมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Rate) ว่า การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอย่างมีการจัดการ (Managed Float) ในขณะนี้ เหมาะสมกับประเทศไทยอยู่แล้ว นอกจากนั้น จากการศึกษาของ ธปท.การใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการ ควบคุมเงินเฟ้อกับประเทศไทยนั้น มีผลค่อนข้างน้อย โดยการแข็งค่าขึ้นของ ค่าเงินบาท 1% เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลง 0.1-0.15% เท่านั้น และหากบาทอ่อนค่าลง 1% เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1-0.15%

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
  • 1 กรกฎาคม 2554, 05:15 น.

ใส่ความเห็น