มะม่วงส่งออก ที่พิษณุโลก สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทต่อปี

มติชนกรุ๊ป : หนังสือพิมพ์และนิตยสารในเครือมติชน.

วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 23 ฉบับที่ 501

เทคโนโลยีการเกษตร

กุณฑล เทพจิตรา

มะม่วงส่งออก ที่พิษณุโลก สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทต่อปี

จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่การปลูกมะม่วงทั้งหมด 62,030 ไร่ นับว่าเป็นแหล่งผลิตมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือและพื้นที่ส่วนมากจะอยู่ในเขตอำเภอวังทอง เนินมะปราง และวัดโบสถ์ ในแต่ละปีมีผลผลิตมะม่วงกว่า 44,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตมะม่วงทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีผลผลิตทั้งมะม่วงกินสุก ได้แก่ น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้ เบอร์ 4 โชคอนันต์ และประเภทกินดิบ ได้แก่ เขียวเสวย ฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด เป็นต้น 

การผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก

คุณบัญหยัด ชาญฟั่น ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงส่งออกบ้านหนองหิน หมู่ที่ 11 ตำบลพันชาลี อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ในตำบลพันชาลีแต่เดิมเกษตรกรปลูกพืชล้มลุก เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง อ้อย แต่ราคาไม่แน่นอน ในปี 2544 เกษตรกรเริ่มหันมาปลูกมะม่วงกันและขายได้ราคา ทางสำนักงานเกษตรอำเภอวังทองได้ส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตควบคู่ไปกับการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพ พร้อมกับสนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งและประสานงานกับผู้ส่งออก

จนมะม่วงพิษณุโลกเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

ขั้นตอนการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกนั้น เริ่มหลังจากเก็บเกี่ยวจะตัดแต่งกิ่ง พร้อมกับให้น้ำและปุ๋ย สูตร 15-15-15 ประมาณ 10-15 วัน เริ่มแทงช่อใบและนับออกไปอีกประมาณ 20 วัน จะเป็นใบเพสลาด ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมในการลาดสารแพคโคบิวทราโซลเพื่อกระตุ้นการออกดอก พร้อมกับให้ปุ๋ยทางใบช่วยดึงช่อดอก

ในระยะนี้ต้องระวังเพลี้ยไฟ โรคและแมลงศัตรูมะม่วง ในช่วงที่ผลมะม่วงขนาดเมล็ดถั่วเขียวต้องให้อาหารเสริม เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม สังกะสี สาหร่าย เป็นต้น และเมื่อมะม่วงติดผล ขนาด 10-15 เซนติเมตร หรือขนาดไข่ไก่ เกษตรกรจะห่อผลด้วยถุงคาร์บอน เพื่อป้องกันโรคแมลงและให้ผิวมะม่วงสีสวย หลังจากนั้น 40-45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วงจำหน่ายสู่ตลาด จากการปฏิบัตินี้เกษตรกรสามารถที่จะวางแผนการผลิตมะม่วงว่าจะให้ออกสู่ตลาดในช่วงไหนก็ได้ และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี โดยหลังจากดึงช่อดอกนับไปอีก 120 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงที่บ้านหนองหินจะเก็บมะม่วงต้นหนึ่งได้ปีละ 3 ครั้ง ผลผลิตเฉลี่ยต้นละ 30-50 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 25-50 บาท

คุณชูศักดิ์ จันสอน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปรับปรุงคุณภาพมะม่วงส่งออกบ้านคลองวังเรือ หมู่ที่ 16 ตำบลพันชาลี อำเภอวังทอง กลุ่มผู้ส่งออกมะม่วงเช่นกัน กล่าวว่า นอกจากจะส่งออกมะม่วงสดแล้ว ทางกลุ่มยังได้พัฒนาการแปรรูปมะม่วงเพื่อส่งออกด้วย ดังนั้น ปัญหาด้านการตลาดของมะม่วงนั้นไม่น่าเป็นห่วง ความต้องการของตลาดมีตลอดทั้งปี แต่เกษตรกรจะมีความพร้อมที่ผลิตได้หรือไม่เท่านั้น และต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐาน

ในส่วนของ คุณสนิท ชังคะนาค ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมปรับปรุงคุณภาพมะม่วงส่งออกบ้านหนองไม้ยางดำ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก อำเภอเนินมะปราง แหล่งผลิตมะม่วงส่งออกของจังหวัดพิษณุโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า อาชีพเกษตรกรรมของชาวสวนมะม่วงนั้น เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ค่อนข้างมั่นคง เพราะมีตลาดรองรับ เกษตรกรบางรายซื้อที่ดินทำมะม่วงส่งออกเพียง 5 ปี ได้ทุนคืนและได้กำไรเหมือนซื้อที่ดินได้ฟรีๆ เพราะทำมะม่วง 5 ไร่ สามารถสร้างรายได้ปีละ 300,000-400,000 บาท สำหรับการผลิตมะม่วงเพื่อส่งออกนั้นทำได้ไม่ยุ่งยาก แต่เกษตรกรต้องรู้จักวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

สุดท้าย คุณศิลป์ชัย ตระกูลทิพย์ ประธานชมรมผู้ปลูกมะม่วงอำเภอเนินมะปราง กล่าวว่า การผลิตมะม่วงเพื่อส่งออกนั้นเกษตรกรต้องไม่ยัดไส้ ต้องรักษาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ยกตะกร้ามะม่วงทุกลูกทุกผลต้องเหมือนกันหมด เพื่อรักษาตลาดและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค

พร้อมกันนี้ คุณสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดพิษณุโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตมะม่วงเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP โดยปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้ปลอดภัย ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตมะม่วงรวมกลุ่มกันขึ้น เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางการค้าและสร้างคุณภาพมาตรฐานของผลผลิต อีกทั้งได้ประสานการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาด โดยการทำสัญญาการซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า (Contract Farming) ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและบริษัทผู้รับซื้อ มะม่วงที่ส่งออกของจังหวัดพิษณุโลกนั้นจะส่งไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ยุโรป ดูไบ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เกาหลี ฮ่องกง และตลาดภายในประเทศด้วย

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกของจังหวัดพิษณุโลกนั้น ได้แก่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปรับปรุงคุณภาพมะม่วงส่งออกตำบลพันชาลี หมู่ที่ 16 ตำบลพันชาลี อำเภอวังทอง โดยมี คุณชูศักดิ์ จันสอน เป็นประธาน โทร. (089) 904-9884 มีสมาชิก 60 ราย พื้นที่ปลูกมะม่วง 2,500 ไร่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงส่งออกบ้านหนองหิน หมู่ที่ 11 ตำบลพันชาลี อำเภอวังทอง คุณบัญหยัด ชาญฟั่น ประธานกลุ่ม โทร. (089) 532-2255 มีสมาชิก 35 ราย พื้นที่ปลูก 3,500 ไร่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมปรับปรุงคุณภาพมะม่วงส่งออกบ้านหนองไม้ยางดำ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก อำเภอเนินมะปราง คุณสนิท ชังคะนาค ประธานกลุ่ม โทร. (081) 971-6491 มีสมาชิก 33 ราย พื้นที่ปลูก 1,500 ไร่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกไม้ผลตำบลหินลาด หมู่ที่ 7 ตำบลหินลาด อำเภอวัดโบสถ์ คุณสมชาย คเชนทร์ภักดิ์ ประธานกลุ่ม โทร. (081) 887-2818 มีสมาชิก 30 ราย พื้นที่ปลูก 1,000 ไร่ ชมรมผู้ปลูกมะม่วงอำเภอเนินมะปราง หมู่ที่ 4 ตำบลเนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง คุณศิลป์ชัย ตระกูลทิพย์ ประธานชมรม โทร. (081) 886-9656 มีสมาชิก 54 ราย พื้นที่ปลูก 2,500 ไร่ ทางกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกของจังหวัดพิษณุโลกที่กล่าวมานั้น บริษัทผู้รับซื้อสามารถติดต่อได้โดยตรงเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายทางธุรกิจ

ใส่ความเห็น