รวมกลุ่มปลูกกล้วยหอมทองส่งออก

วันอังคาร ที่ 01 มิถุนายน 2553 เวลา 0:00 น

ผ่านทางDaily News Online > หน้าเกษตร > นานาสารพัน > รวมกลุ่มปลูกกล้วยหอมทองส่งออก.

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคการ เกษตร เพื่อความยั่งยืนและมั่นคงของเกษตรกรไทย ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ภายใต้การขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ด้วยการจัดตั้ง “นิคมการเกษตร” เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯ อย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร พร้อมกับเผยแพร่แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และเกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพ

นายเฉลิมพร พิรุณสาร เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า นิคมการเกษตรกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการจัดตั้งนิคมการเกษตร ด้วยการสนับสนุนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหนึ่งในหน่วยงานหลัก คือ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร และจังหวัดชุมพร ดังนั้น ส.ป.ก. จึงได้มอบนโยบายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพร เร่งดำเนินการในส่วนของนิคมการเกษตรกล้วยหอมเพื่อการส่งออก

นายกระแส จันทรังษี ปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพร กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นิคมการเกษตรกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกประสบความสำเร็จ ได้นั้น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพรเข้ามาช่วยเหลือและเป็นตัวกลางในการ ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งในด้านการจัดรูปที่ดินการ วิเคราะห์ดิน การจัดหาแหล่งน้ำ การจัดกลุ่มเกษตรกร และสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็น ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังสนับสนุนแหล่งทุน ผ่านกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร ซึ่งในปี 2553 นี้ ได้ปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรภายในนิคมการเกษตรไปแล้วทั้งสิ้น 3 ล้าน เพื่อนำมาจัดสร้างโรงคัดแยกผลผลิตกล้วยหอมทองก่อนการส่งออกไปยังประเทศ ญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้แหล่งผลิตกล้วยหอมทองส่งออกไปญี่ปุ่นขนาดใหญ่จะอยู่ที่จังหวัด เพชรบุรี แต่เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากลุ่มเกษตรกรในนิคมการเกษตรของจังหวัดชุมพร จะสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตได้ทัดเทียมกับจังหวัดเพชรบุรี ทั้งในด้านการปลูก การผลิต และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้กล้วยหอมทองคุณภาพและปลอดสารพิษ โดยจุดเด่นของ จ.ชุมพร คือ รสชาติของกล้วยหอมทองที่จัดจ้าน เนื่องจากปลูกในพื้นที่ดอน ในขณะที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นพื้นที่ลุ่มผลผลิตกล้วยหอมทองที่ได้จะมีรสชาติ อ่อนกว่า

ด้าน นายดำรง แสงแก้ว หนึ่งในผู้ปลูกกล้วยหอมทอง กล่าวว่า เดิมชาวบ้านในพื้นที่ ต.ถ้ำสิงห์ ส่วนใหญ่จะปลูกไม้ผลจำพวก เงาะ มังคุด ทุเรียน เหมือนพื้นที่อื่น ๆ ทั่วไป แต่มักประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด และราคาตกต่ำ จนกระทั่งมีการจัดตั้งนิคมการเกษตร พร้อมกับได้รับการ ส่งเสริมจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรในการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการ ส่งออก

เกษตรกรในพื้นที่จึงได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตกล้วยหอมทอง เพื่อการส่งออก โดยกล้วยหอมทองที่ปลูกจะเลือกใช้พันธุ์กล้วยหอมทองกาบดำ มีการจัดการการผลิตในแบบปลอดสารพิษ ส่วนการปลูกนั้นจะมีทั้งการปลูกเป็นแปลงใหญ่และการปลูกแซมในพื้นที่สวนผลไม้ เดิมที่มีอยู่ เพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมกลุ่มแล้วประมาณ 100 ราย พื้นที่การผลิตประมาณ 1,500 ไร่ กำลังการผลิตเฉลี่ย 1-1.5 ตันต่อไร่ ส่วนการรับซื้อจะกำหนดราคาประกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท ซึ่งเกษตรกรจะได้กำไรโดยเฉลี่ยประมาณ 7,000-10,000 บาทต่อไร่ ซึ่งบางรายก็เป็นรายได้เสริมจากรายได้หลัก ถึงแม้จะเป็นเงินไม่มากนักแต่ก็ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว ดีขึ้น

นิคมการเกษตรกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบของนิคมการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ และทำให้ เห็นภาพของการบูรณาการและความร่วมมือกันทั้งในส่วนของภาครัฐและชุมชน ที่จะช่วยกันในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต.

ใส่ความเห็น