มอง มะนาว ครบทุกมิติ โอกาสทองทางธุรกิจ ของเด็กนางรอง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05088150758&srcday=2015-07-15&search=no

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 27 ฉบับที่ 603

เยาวชนเกษตร

มอง มะนาว ครบทุกมิติ โอกาสทองทางธุรกิจ ของเด็กนางรอง

ปัญหามะนาวแพงในหน้าร้อนเป็นปัญหาระดับชาติ ขนาดนายกรัฐมนตรีออกมารับกระแสด้วย เกือบทุกครั้ง พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แนะนำว่า ถ้าประชาชนจะต่อสู้กับปัญหามะนาวแพง ก็ลองหันมาปลูกมะนาวกินเอง หรือก่อนหน้านั้นยุค นายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ให้เลือกใช้มะม่วงเปรี้ยว หรือมะขาม แทนมะนาวไปพลางๆ ก่อน

ความพยายามในการปลูกมะนาวให้ออกนอกฤดู ถือเป็นการท้าทายความรู้ความสามารถทางภาคการเกษตรแขนงหนึ่งที่จะออกมาสู้กับปัญหามะนาวแพง แต่กับเรื่องต้นพันธุ์มะนาวตรงนี้ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ น้องนักศึกษา ปวช. ปี 2 วิทยาลัยการอาชีพนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มองเห็นช่องทางอาชีพนี้ ได้ใช้วิธีขยายพันธุ์มะนาวด้วยวิธีเสียบกิ่งบนต้นส้มโอขึ้น

นายวิทยา บุตรศรี ตัวแทนจากวิทยาลัยการอาชีพนางรอง เล่าว่า มะนาวเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่บริโภคกันทั้งประเทศ บางช่วงราคาจะแพงมาก และปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรประสบก็คือ ต้นตอมะนาวไม่แข็งแรง ทางกลุ่มจึงคิดหาวิธีขยายพันธุ์เพื่อให้ได้ต้นตอมะนาวที่แข็งแรงและทนต่อโรค

ด้วยพบว่าวิธีเสียบกิ่งมะนาวกับต้นส้มโอ จะช่วยเสริมรากให้ต้นมะนาวแข็งแรง มีความทนทานต่อโรค และมีผลขนาดใหญ่ จึงชักชวนเพื่อนในกลุ่ม 7 คน ไปเรียนรู้วิธีเสียบกิ่งมะนาวที่ศูนย์มีชัย บ้านหนองตาเข้ม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

จากนั้นได้กลับมาลองผิดลองถูก จนสามารถขยายพันธุ์มะนาวได้สำเร็จ จากนั้นมาร่วมกัน ได้ก่อตั้งบริษัท ครบวงจร 2014 จำกัด ขึ้น รวมหุ้นคนละ 1,000 บาท ทำธุรกิจเพาะพันธุ์ต้นมะนาวบนต้นส้มโอขายอย่างจริงจัง

“วิธีเสียบกิ่งมะนาวบนต้นส้มโอนั้น ขั้นตอนแรกต้องเริ่มเพาะต้นส้มโอจากเมล็ดก่อน จนต้นส้มโอโต มีอายุ 1 เดือน ขึ้นไป สามารถนำมาใช้เสียบกิ่งมะนาวได้ โดยเลือกใช้กิ่งมะนาวพันธุ์แป้นพิจิตร ส่วนส้มโอใช้พันธุ์โชกุน หรือพันธุ์อิสราเอล กิ่งพันธุ์มะนาวที่ใช้ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป”

“ขั้นตอนสำคัญคือ การเสียบกิ่ง ต้องตัดปาดกิ่งมะนาวแบบทแยงมุมแล้วเสียบลงบนต้นส้มโอ ใช้สก็อตช์เทปพันเพื่อกันเชื้อรา จากนั้นใช้ถุงพลาสติกใสคลุม ทิ้งไว้ 34 วัน เพื่อให้ต้นไม้คายน้ำ และให้น้ำไหลกลับคืนเข้าต้นส้มโอ ซึ่งเพื่อนในกลุ่มทำได้เกือบทุกคน เพราะทางบ้านมีอาชีพทำสวนมะนาวอยู่แล้ว ซึ่งกิ่งมะนาวบนต้นส้มโอตั้งราคาขายไว้ที่ 150 บาท ทั้งนี้ เมื่อต้นพันธุ์เติบใหญ่จนให้ผลผลิตจะเป็นต้นพันธุ์มะนาว ไม่ได้เป็นต้นส้มโอแต่อย่างใด” นายวิทยา เล่าเทคนิคการเสียบกิ่งมะนาว

บริษัท ครบวงจร 2014 จำกัด ยังคิดต่อยอดไปอีกว่า การปลูกพืชต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จึงไปศึกษาหาความรู้วิธีเลี้ยงไส้เดือน เพื่อเอามูลมาทำปุ๋ย และนำมาขยายเป็นธุรกิจต่อ โดยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 30 บาท

นอกจากนี้ ยังได้ผลิตเครื่องคัดมะนาว โดยนำความรู้วิชาช่างเชื่อมของเพื่อนในวิทยาลัยมาต่อยอด ผลิตออกมาจำหน่าย ราคาเครื่องละ 19,000 บาท มีความสามารถในการคัดมะนาวได้ 100 ลูก ต่อ 1 นาที ขณะนี้จำหน่ายไปได้แล้ว 6 เครื่อง

น้องๆ จากบริษัท ครบวงจร 2014 จำกัด เริ่มทำมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2557 ล่าสุดได้แบ่งปันผลกำไรให้สมาชิกไปแล้วคนละ 6,920 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายและชำระเงินกู้ และยังนำเงินรายได้ไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ (38,061 บาท) จัดสรรทุนอบรมการขยายพันธุ์พืชให้แก่นักเรียนโรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดสุรินทร์ และผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำนางรอง และจัดซื้อคอมพิวเตอร์มอบให้แก่ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านทรัพย์ทรายทอง อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์

ผลจากการประกอบธุรกิจไม่เพียงแต่สร้างรายได้ระหว่างเรียน แต่ยังก่อให้เกิดความรู้ขึ้นในชุมชน จนส่งผลให้ บริษัท ครบวงจร 2014 จำกัด ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดโครงการกรุงไทยยุววาณิช ที่ธนาคารกรุงไทยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 ร่วมกับทีมจากโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา จังหวัดเลย โดยได้รับทุนการศึกษา 390,000 บาท โล่รางวัล และประกาศนียบัตร พร้อมทั้งศึกษาดูงานต่างประเทศ

ทั้งนี้ โครงการกรุงไทยยุววาณิช จัดขึ้น เพื่อจุดประกายและสร้างเยาวชนที่มีคุณธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวคิดทุนทางปัญญาไม่มีวันหมด โดยเน้นให้เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้มีเวทีในการฝึกปฏิบัติการดำเนินธุรกิจ มีความสนใจและตื่นตัวที่จะใช้ความคิด ความรู้ที่มีอยู่ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วนำมาปฏิบัติจริงให้เป็นรูปธรรม

นางศิริพร นพวัฒนพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มการตลาดและสื่อสารองค์กร สายงานการตลาดและสื่อสารองค์กร ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการกรุงไทยยุววาณิช ต้องการสนับสนุนให้เยาวชนได้ประกอบธุรกิจจริง และภายในโครงการทุกโรงเรียนจะต้องแบ่งงบประมาณหรือผลกำไรไปทำกิจกรรมทางสังคมด้วย อีกทั้งยังสามารถต่อยอดได้จริง โดยธนาคารจะช่วยบ่มเพาะหลักการทำธุรกิจให้เยาวชน เด็กๆ จะรู้ทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ รวมทั้งการทำงานเป็นทีมที่จะต้องมีการแบ่งหน้าที่กัน ซึ่งเยาวชนสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ในอนาคตเมื่อจบการศึกษามา อยากทำธุรกิจก็สามารถทำได้เลย

“สิ่งที่ประทับใจและน่าชื่นชม คือนักเรียนสามารถนำความคิดทันสมัยของพวกเขามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งสินค้าที่เด็กๆ นักเรียนได้ทำสะท้อนให้เห็นถึงความหวงแหน และเห็นคุณค่าภูมิปัญญาของไทยมากขึ้น โดยรู้จักนำภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า มีราคานอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงความห่วงใยสิ่งแวดล้อมรอบชุมชน รู้จักเอาของเหลือใช้มาแปรรูปเป็นสินค้า อย่างไรก็ตาม ตลอด 13 ปี ที่ธนาคารกรุงไทยได้จัดกิจกรรมนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่าเด็กและเยาวชนเหล่านั้นต่างมีศักยภาพ” นางศิริพร กล่าว

แปลงสาธิตเศรษฐกิจพอเพียง ม. วลัยลักษณ์ ฟาร์มครบวงจร แหล่งเรียนรู้ คู่เยาวชน

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05090150658&srcday=2015-06-15&search=no

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 27 ฉบับที่ 601

เยาวชนเกษตร

สุจิต เมืองสุข

แปลงสาธิตเศรษฐกิจพอเพียง ม. วลัยลักษณ์ ฟาร์มครบวงจร แหล่งเรียนรู้ คู่เยาวชน

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ตอนบน และมีรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล มีระบบการบริหารงานเป็นของตนเอง ซึ่งสิ่งที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือการที่มหาวิทยาลัยเล็งเห็นความสำคัญของสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาที่มีต่อนักศึกษา จึงพัฒนาสภาพแวดล้อมให้มีลักษณะเป็นเมืองมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน โดยจัดพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ในลักษณะอุทยานการศึกษา และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีวิทยาเขตเดียว มีระบบสหกิจศึกษา คือการให้นักศึกษาได้มีการศึกษาทั้งในองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และมีการปฏิบัติงานจริงที่ทำให้นักศึกษาที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีทั้งความรู้ทางวิชาการและมีความชำนาญในทางปฏิบัติควบคู่กัน

พื้นที่เกือบหมื่นไร่ แบ่งสัดส่วนให้สอดคล้องกับความต้องการใช้พื้นที่ของแต่ละสาขาวิชา เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ประโยชน์จากวิชาเรียน ทดลอง ปฏิบัติเสมือนจริงให้มากที่สุด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ให้ข้อมูลว่า สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มุ่งพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้มีคุณภาพด้วยโครงการต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ของสำนักวิชา ได้แก่ โครงการเตรียมความพร้อมผู้เรียนสู่มหาวิทยาลัย โครงการพัฒนาการเรียนการสอนแบบ Active Learning โครงการประสบการณ์สัญจร โครงการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม โครงการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ โครงการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องการให้บัณฑิตมีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ โดยมีการเรียนรู้ร่วมกับการปฏิบัติงานจริง มีโอกาสไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาต่างประเทศ มีทักษะภาษาสากล และมีทักษะด้านธุรกิจเกษตร

เมื่อมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ตอนบน จึงเป็นเสมือนศูนย์กลางการเรียนรู้และแกนองค์ความรู้ให้กับประชาชน นอกเหนือจากการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา โดยสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งเป็นสำนักที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกษตร ได้จัดแบ่งพื้นที่ทางการเกษตรไว้สำหรับให้ประชาชน ผู้สนใจ นักเรียนและนักศึกษาจากสถานศึกษาภายนอกเข้ามาศึกษาเพิ่มองค์ความรู้ได้ โดยจัดเป็นแปลงสาธิตเศรษฐกิจพอเพียง บนพื้นที่ 7 ไร่ ให้เรียนรู้

นอกเหนือจากเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจ นักเรียน นักศึกษา จากสถานศึกษาภายนอกเข้ามาศึกษาแล้ว ยังกำหนดให้นักศึกษากลุ่มวิชาเศรษฐกิจพอเพียง สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรเอง ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลและการปฏิบัติในทุกกิจกรรมที่มีอยู่

แปลงสาธิตเศรษฐกิจพอเพียง ใช้พื้นที่เพียง 7 ไร่ มี คุณสัมฤทธิ์ ธนาวุฒิ นักวิชาผลิตพืช แปลงสาธิตเศรษฐกิจพอเพียง สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นผู้ดูแล แปลงสาธิตแห่งนี้ จัดเป็นต้นแบบชุมชนเศรษฐกิจ เป็นฐานความรู้สู่ศูนย์การเรียนรู้ให้กับผู้สนใจ

คุณสัมฤทธิ์ กล่าวว่า แปลงสาธิตมีจุดเรียนรู้ครบวงจร นักศึกษาของสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรทุกคนต้องเรียนรู้และลงมือทำได้ทั้งหมด เพื่อเป็นต้นแบบและตัวอย่าง เมื่อต้องทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้กับผู้สนใจเยี่ยมชมแปลง

1. การปลูกพืชกลับหัว ใช้กระถางแขวน ไม่ปลูกเฉพาะพืชกลับหัวเท่านั้น แต่ปลูกพืชทั้งที่ห้อยหัวลงและด้านบนของกระถาง เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่ปลูกจำกัดหรือพื้นที่น้ำท่วมขัง ซึ่งหลักการของการปลูกต้องปลูกพืชอายุยืนในส่วนที่ห้อยส่วนหัวลง เช่น มะเขือ โหระพา พริก โดยเพาะเมล็ดเช่นเดียวกับการปลูกทั่วไป รอให้พืชเจริญเติบโต สูงประมาณ 6-7 เซนติเมตร จึงพลิกกระถางลง จากนั้นปลูกพืชด้านบน เน้นที่พืชกินใบ เช่น คะน้า ผักกาดขาว แต่ก่อนปลูกพืชด้านบนต้องเพาะลงแปลงก่อน เมื่อสภาพของพืชสมบูรณ์พร้อมที่จะออกแดด จึงนำไปลงกระถางด้านบน ซึ่งวัสดุปลูกควรผสมระหว่างขุยมะพร้าวและปุ๋ยคอก สัดส่วน 1 : 1 การปลูกพืชเช่นนี้ จะทำให้น้ำที่ใช้รดพืชดังกล่าว ไม่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

2. แปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นการสอนเรื่องการปลูกพืชไม่ใช้ดิน แต่ควรมีระบบน้ำไหลเวียน 24 ชั่วโมง มีตาข่ายคลุมไม่ให้แมลงศัตรูพืชรบกวน ในบางแปลงดัดแปลงพื้นที่โดยการเลี้ยงปลา ใช้น้ำจากบ่อปลาลงมาเป็นปุ๋ยให้กับพืช จากนั้นน้ำจะไหลไปถังกรอง แล้ววนกลับไปใช้ในการเลี้ยงปลา

3. การผลิตแก๊สชีวภาพไว้ใช้ภายในครัวเรือน ใช้ถังความจุ 1,000 ลิตร ใส่มูลสัตว์สด น้ำมะพร้าว หมักไว้ 15-20 วัน จะเกิดแก๊ส แก๊สที่ได้จะไหลไปรวมอยู่ในถังพัก จากนั้นจึงต่อมายังครัวเรือน สำหรับใช้ประกอบอาหาร ควรเติมมูลสัตว์ทุกๆ 2-3 วัน เปรียบเสมือนการนำมูลสัตว์ที่เลี้ยงไว้มาใช้ประโยชน์

4. เตาเผาถ่าน ผลิตน้ำส้มควันไม้ ใช้เตาเผาถ่าน 200 ลิตร เป็นเตาเผาถ่านที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถสร้างได้ง่าย ลงทุนน้อย และได้ถ่านที่มีคุณภาพสูง เตาประเภทนี้อาศัยความร้อนไล่ความชื้นในเนื้อไม้ ทำให้ไม้กลายเป็นถ่าน และเนื่องจากเตามีโครงสร้างปิด ทำให้สามารถควบคุมอากาศได้ดี จึงไม่มีการลุกติดไฟของเนื้อไม้ ผลผลิตที่ได้จึงเป็นถ่านที่มีคุณภาพ ขี้เถ้าน้อย และผลพลอยได้จากกระบวนการเผาถ่านคือ น้ำส้มควันไม้ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

5. โรงเรือนแพะยกพื้นสูง เลี้ยงไก่ไว้ด้านล่างของโรงเรือนแพะ จะทำให้มูลแพะที่หล่นลงกับพื้นได้รับการคลุกเคล้าโดยไก่ที่คุ้ยเขี่ยหาอาหาร เป็นการคลุกเคล้าโดยธรรมชาติ จากนั้นนำมูลแพะที่ได้ใช้เป็นปุ๋ย

6. การเลี้ยงเป็ดในแปลงปาล์มน้ำมัน เป็นการศึกษาการเลี้ยงเป็ดในแปลงปาล์มน้ำมัน 3 แปลง แปลงแรกไม่เลี้ยงเป็ด แต่ใช้สารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ แปลงที่ 2 เลี้ยงเป็ด 50 ตัว ใช้ปุ๋ยเคมี 50 เปอร์เซ็นต์ แปลงที่ 3 เลี้ยงเป็ด 50 ตัว ไม่ใช้สารเคมีใดๆ เป็ดที่นำมาเลี้ยงแทนการให้ปุ๋ยด้วยมูลสัตว์ เปรียบเทียบการใช้มูลเป็ดแทนปุ๋ย การใช้สารเคมี และผลผลิตที่ได้ของปาล์มน้ำมัน

7. แปลงไม้ผล ห่มดินด้วยหญ้าแห้งและเศษวัสดุ เนื่องจากดินบริเวณดังกล่าว เป็นดินร่วนปนทราย บางพื้นที่เป็นดินร่วนปนเหนียว ฤดูแล้งไม่อุ้มน้ำ ฤดูฝนน้ำไม่ขัง ไม่เหมาะกับการปลูกไม้ผล แต่ใช้วิธีปรับปรุงดินด้วยการนำหญ้าแห้ง ฟางแห้ง จากแปลงนามาห่มดิน รดน้ำหมักชีวภาพจะช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้นจนสามารถปลูกได้ผลผลิตดี

8. บ่อน้ำ ขนาดความกว้าง 8 เมตร ยาว 20 เมตร ใช้เป็นบ่อสำหรับกักเก็บน้ำ แต่ปล่อยปลากินพืชให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ เช่น ปลานิล ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปบ้าง ให้ผักที่เหลือทิ้งจากสวนบ้าง จับทุก 3 เดือน นำไปประกอบอาหาร ถ้ามีปลาตัวใหญ่มากก็นำไปขาย

9. มุมพืชสมุนไพร ควรมีไว้จำนวนหนึ่ง เน้นพืชสมุนไพรหรือพืชพื้นบ้าน ไว้สำหรับอนุรักษ์ สะสม และเป็นจุดเรียนรู้สำหรับผู้สนใจด้านสมุนไพร

10. การเลี้ยงกบในนาข้าว ปล่อยกบในแปลงนาข้าว ใช้กบกำจัดแมลง เมื่อกบโตก็จับไปขาย เป็นการเรียนรู้เรื่องของระบบนิเวศ

พื้นที่ 7 ไร่ ถูกจัดสรรอย่างลงตัว สำหรับใช้ประโยชน์ทุกตารางนิ้ว และแต่ละกิจกรรมจะเชื่อมโยง สามารถทำได้ทุกกิจกรรมไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม แปลงสาธิตเศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นมานานกว่า 8 ปีแล้ว และยังคงเปิดกว้างให้บุคคลที่สนใจ โดยเฉพาะเยาวชนและนักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ เพราะถือได้ว่า มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนการสอนที่ไม่หยุดนิ่งและสามารถนำไปใช้ได้จริง

ผู้สนใจ ติดต่อขอเข้าชมเพื่อเรียนรู้แปลงสาธิตเศรษฐกิจพอเพียงได้ที่ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ (075) 672-301, (075) 672-303 แปลงสาธิตเศรษฐกิจพอเพียง สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยินดีต้อนรับ

ดร. สาโรช เติมสุข แบ่งฝัน ปันน้ำใจ

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ดร. สาโรช จำกัด จัดโครงการ “ดร. สาโรช เติมสุข แบ่งฝัน ปันน้ำใจ” ครั้งที่ 3 โดยมอบอุปกรณ์การเรียนและทุนการศึกษาให้กับนักเรียน จำนวน 26 คน ที่โรงเรียนบ้านเขาดินทอง ตำบลซับสมบูรณ์ อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี รวมทั้งมอบอุปกรณ์สำหรับใช้ในโรงเรียนให้กับโรงเรียนใกล้เคียงที่ขาดแคลนอุปกรณ์การศึกษาอีกด้วย

อุดมศาสน์วิทยา ร.ร. ปอเนาะ ยะลา กับรางวัล ยุวเกษตรดีเด่น ปี 57

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05090010658&srcday=2015-06-01&search=no

วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 27 ฉบับที่ 600

เยาวชนเกษตร

สุจิต เมืองสุข

อุดมศาสน์วิทยา ร.ร. ปอเนาะ ยะลา กับรางวัล ยุวเกษตรดีเด่น ปี 57

กิจกรรมยุวเกษตร ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่อยู่ในหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนทุกแห่ง แต่เป็นกิจกรรมเสริมที่สร้างคุณลักษณะนักเรียนให้มีความรักและผูกพันในวิชาชีพเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานในการประกอบอาชีพของบรรพบุรุษในอดีต ดังนั้น โรงเรียนใดที่ไม่มีกิจกรรมยุวเกษตร ก็ไม่ถือว่าผิด เพราะอาจมีกิจกรรมอื่นเสริมให้กับนักเรียน ให้ได้เรียนรู้ใกล้เคียงกัน

โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา เป็นโรงเรียนปอเนาะ (โรงเรียนสอนศาสนา ที่มีหอพักนักเรียนอยู่ภายในโรงเรียน) สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาให้เป็นโรงเรียนสอนศาสนาที่มีการเรียนการสอนทั้งภาคสามัญและภาคศาสนา ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

โรงเรียนแห่งนี้ มีการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย มีนักเรียนทั้งสิ้น 900 คน เปิดสอนมานานกว่า 25 ปีแล้ว โดยการก่อตั้งของ คุณมะรอนิง สาแลมิง ซึ่งเล็งเห็นประโยชน์ของการให้การศึกษาทั้งทางสามัญและศาสนา จึงยกพื้นที่ 14 ไร่ ให้เป็นสมบัติตั้งต้นของโรงเรียน และโรงเรียนปอเนาะในอดีต จะมีหอพักให้กับนักเรียนในโรงเรียนอยู่แล้ว ดังนั้น ปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กนักเรียนคือ อาหาร ซึ่งผู้ก่อตั้งโรงเรียนเล็งเห็นความสำคัญของการให้เด็กเรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตนเอง จึงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งทำแปลงผักสวนครัวไว้สำหรับเด็กนักเรียนที่พักค้างหอพักประกอบอาหารรับประทานเอง เป็นการประหยัด และรู้จักการช่วยเหลือตนเอง

อาจารย์แวซอและ มะลี ที่ปรึกษายุวเกษตร โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา เล่าถึงความเป็นมาของการก่อตั้งยุวเกษตรกรให้ฟังว่า เดิมโรงเรียนก็มีเพียงแปลงผักไว้สำหรับให้นักเรียนประจำหอพักรับผิดชอบดูแล และนำมาใช้ประกอบอาหารให้กับนักเรียนในหอพักรับประทานเท่านั้น แต่เมื่อ ปี พ.ศ. 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเยี่ยมโรงเรียน ได้มีพระราชดำรัสให้ส่งเสริมการสอนวิชาชีพด้านต่างๆ ให้กับนักเรียน เนื่องจากนักเรียนในพื้นที่มีฐานะยากจน อาจมีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไม่ได้ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา จะได้นำวิชาชีพที่เรียนไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพต่อไป นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำรัสให้โรงเรียนมีกิจกรรมยุวเกษตร เพื่อนำอาหารที่ได้จากการทำการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันอีกด้วย

“จากนั้น เพียงปีเดียว คือ ปี พ.ศ. 2550 โรงเรียนก็เริ่มดำเนินกิจกรรมยุวเกษตรอย่างจริงจัง รวมถึงการส่งเสริมการสอนอาชีพให้กับนักเรียนในโรงเรียน เช่น ตัดเย็บ ทำอาหาร ทำขนม ช่างยนต์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนั้น เปิดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สมัครเข้าร่วมกลุ่มยุวเกษตร ทำให้ปัจจุบันมีนักเรียนในกลุ่มยุวเกษตรทั้งสิ้น 55 คน และมีกลุ่มเครือข่าย ที่เปิดให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่สนใจสมัครเข้ากลุ่ม รวมทั้งกลุ่มยุวเกษตรและกลุ่มเครือข่าย ประมาณ 80 คน ซึ่งกลุ่มเครือข่าย นอกจากจะสนใจด้านเกษตรแล้ว ยังเป็นกลุ่มที่นำผลผลิตจากการเกษตรไปแปรรูปหรือต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาด้วย”

กลุ่มเครือข่าย จะเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจในกิจกรรมของยุวเกษตร แต่กลุ่มเครือข่ายจะพุ่งเป้าการให้ความรู้ไปที่วิชาชีพอีกลักษณะหนึ่ง ได้แก่ การตัดเย็บเสื้อผ้า การย้อมผ้าบาติก การทำน้ำยาล้างจาน การทำไข่เค็ม เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในกลุ่มยุวเกษตรด้วย

กิจกรรมเกษตรของโรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา มี 5 กิจกรรม บนพื้นที่ทั้งหมด 3 ไร่ ประกอบด้วย

1. พืชผัก เป็นการปลูกผักในโรงเรียน 16 แปลง อาทิ ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้า เป็นต้น

2. โรงเห็ด มีก้อนเห็ด 300 ก้อน เป็นเห็ดนางฟ้าและเห็ดฮังการี

3. ปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ไข่ เป็ดไข่ และ ไก่เนื้อ (ไก่เบตง)

4. ประมง บ่อซีเมนต์ก่อปูน สูง 1.20 เมตร ปูด้วยพลาสติก เลี้ยงปลาดุก 1,200 ตัว ต่อบ่อ และขุดบ่อดิน ขนาด 8×6 เมตร เลี้ยงปลานิล

5. แปรรูป ขึ้นอยู่กับผลผลิตที่ได้ เช่น กล้วยหินฉาบ ได้จากกล้วยหิน 30 ต้น ที่ปลูกภายในบริเวณโรงเรียน หรือการทำไข่เค็ม ที่ได้จากไข่ของเป็ดไข่ การนำเห็ดมาทอดรับประทานเป็นอาหารกลางวัน และจำหน่ายภายในโรงเรียน เป็นต้น

นอกเหนือจากกิจกรรม 5 กลุ่ม ข้างต้น บริเวณโรงเรียนยังปลูกไม้ผลไว้ประดับและให้นักเรียนได้รับประทานผล เช่น มังคุด ฝรั่ง มะม่วงเบา เป็นต้น

กิจกรรมทางการเกษตรทั้งหมด ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3 ไร่ โดยนักเรียนที่สมัครเข้าร่วมกลุ่มยุวเกษตร จะแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 5-10 คน โดยแต่ละกลุ่มจะดูแลกิจกรรมเฉพาะกลุ่มตั้งแต่การประชุมหารือ คำนวณต้นทุน แบ่งหน้าที่ มีการจดบันทึกรายรับ รายจ่าย และทำรายงานสรุปทั้งหมดของแต่ละกิจกรรม มีอาจารย์ที่ปรึกษาของแต่ละกลุ่มกิจกรรม

แม้ว่าจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบให้กับเด็กแต่ละกลุ่มแล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าเด็กนักเรียนจะดูแลเพียงกิจกรรมที่รับผิดชอบเพียงกิจกรรมเดียว เนื่องจากโรงเรียนต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้กิจกรรมทางการเกษตรหลายอย่าง จึงกำหนดให้เด็กทุกกลุ่มจะต้องสลับกิจกรรมทำ เพื่อให้ได้ลงมือปฏิบัติในทุกกิจกรรม โดยมีข้อตกลงร่วมกันในการดูแลของแต่ละกลุ่ม

“การเลือกกิจกรรมทางการเกษตรกลุ่ม จะปล่อยให้นักเรียนเลือกตามความชอบของนักเรียนเอง ซึ่งพื้นฐานครอบครัวของนักเรียนทำเกษตรกรรมก็จริง แต่ไม่ได้หลากหลาย ส่วนใหญ่ทำสวนยางพารา ดังนั้น พื้นที่สำหรับทำการเกษตรอื่นจึงมีน้อย ทำให้เด็กที่สนใจกิจกรรมเกษตรอื่นที่ไม่มีที่บ้าน ได้ลงมือทำที่โรงเรียน และเป็นข้อดีที่นักเรียนที่นี่นำกลับไปต่อยอดในการทำกิจกรรมเกษตรที่บ้าน เช่น เลี้ยงสัตว์ ทำแปลงผักสวนครัว บางรายมีแนวคิดที่สร้างสรรค์และมีใจรักการเกษตร นำความรู้ที่ได้จากกิจกรรมยุวเกษตรกลับไปทำที่บ้าน มีรายได้ช่วยเหลือครอบครัว”

ผลผลิตที่ได้ในแต่ละวัน จะส่งเข้าโรงครัวเพื่อเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียนในกลุ่มยุวเกษตร นักเรียนที่พักในหอพักของโรงเรียน และนักเรียนที่กำพร้าและยากจน มีประมาณ 50 คน ซึ่งเด็กกำพร้าส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในภาคใต้ และหากผลผลิตมีมากเกินความต้องการของเด็กทุกกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของโรงเรียน โรงเรียนจะขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าในโรงอาหาร นำไปประกอบอาหารในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่ปลอดสารพิษ

อาจารย์แวซอและ บอกด้วยว่า แม้ว่านักเรียนทั้งโรงเรียนจะไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มยุวเกษตรทั้งหมด แต่โรงเรียนก็มีกิจกรรมที่ดึงความสนใจนักเรียนให้รักในเกษตรกรรม โดยการตั้งเพจในเฟซบุ๊ก และดาวน์โหลดกิจกรรมเป็นวิดีโอลงเผยแพร่ในหน้าเพจ ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมในลักษณะของการเผยแพร่ความรู้ เช่น วิธีเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงปลาดุก การทำผ้าบาติก ซึ่งช่วยดึงดูดความสนใจของเด็กนักเรียนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมด้านการเกษตรโดยการจัดวิทยากรที่มีความชำนาญเฉพาะทาง มาให้ความรู้กับนักเรียนที่สนใจในห้องเรียน เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น

คุณรุสลัน ไซซิง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประธานกลุ่มยุวเกษตรโรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา กล่าวว่า ที่บ้านของผมทำเกษตรแบบผสมผสาน การเรียนรู้การจัดการกิจกรรมเกษตรในโรงเรียนเป็นสิ่งดี เพราะผมได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากโรงเรียนกลับมาทำที่บ้าน และนำความรู้ที่ได้จากการอบรมต่างๆ ไปถ่ายทอดให้กับครอบครัวด้วย นอกจากนี้ ผมสนใจการทดลองใหม่ๆ ทางการเกษตร ซึ่งจะทดลองทำที่บ้านก่อน หากได้ผลดีจะนำไปสานต่อกิจกรรมในโรงเรียน เช่น การทำไข่เค็ม ที่ผ่านมาไข่เค็มที่พอกดินไว้ หากไม่ล้างออกเมื่อครบกำหนด 14 วัน ไข่จะมีความเค็มเพิ่มขึ้น แต่การทดลองตามสูตรของผมพบว่า ดินที่ใช้พอกไข่เค็มไว้ หากครบกำหนด 14 วัน แล้วไม่ได้ล้างดินที่พอกไข่ออก ก็ไม่ทำให้ไข่มีความเค็มเพิ่มขึ้น

“ผมปลูกผักสวนครัวบริเวณบ้าน ทำประมง เลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ และเพาะเห็ด ทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่ครอบครัวของผมทำมานานแล้ว ดังนั้น ผมจึงอยากสานต่อกิจกรรมทั้งหมดของที่บ้านให้ขยายผลสู่โรงเรียนและชุมชนต่อไป”

ด้าน คุณอิลฮัมดี มูซอ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 บอกว่า การสมัครร่วมกิจกรรมยุวเกษตร ก็เพราะชอบเกษตร เนื่องจากผมเป็นคนรูปร่างใหญ่และพักอยู่หอในโรงเรียน ในทุกวันเด็กนักเรียนจะใช้เวลาว่างเล่นกีฬา แต่สำหรับผมเล่นกีฬาไม่เป็น จึงหันไปทำการเกษตร ซึ่งช่วยให้เวลาว่างที่หายไปเกิดประโยชน์ สำหรับกิจกรรมทางการเกษตรที่ชอบมากที่สุดคือ การเพาะเห็ด เพราะเห็ดเป็นการทำการเกษตรที่ลงทุนน้อย แต่ได้กำไรจากการขายเห็ดมาก รวมทั้งการปลูกผักสวนครัว ซึ่งปัจจุบันได้ปลูกผักสวนครัวไว้ที่บ้านด้วย โดยเฉพาะถั่วฝักยาว ปลูกมากกว่าผักชนิดอื่น เพราะสามารถนำไปขายให้กับชุมชนได้ เนื่องจากเป็นผักที่มีความต้องการสูง ชุมชนนำไปใช้ประกอบอาหารพื้นถิ่นได้

ส่วน คุณอานัส อาเกะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าว่า ผมมีใจรักในการเกษตร เพราะแม่เป็นยุวเกษตรของหมู่บ้าน เมื่อเติบโตมาก็รู้สึกผูกพัน และเห็นว่าการเกษตรเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต ผลผลิตที่ได้จากการเกษตร คือ อาหาร และอาหารก็จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังสนใจกิจกรรมด้านปศุสัตว์ เพราะมีประสบการณ์การช่วยพ่อเลี้ยงวัว และชอบการเลี้ยงไก่ จึงเลือกกิจกรรมกลุ่มไก่ไข่ที่โรงเรียน โดยแต่ละวันจะให้อาหารไก่ 3 ครั้ง และเก็บไข่ในเวลากลางวัน เฉลี่ยแต่ละวันได้ไข่ไก่ ประมาณ 30 ฟอง ต่อไก่ไข่ 30 ตัว เมื่อได้ก็นำไปเข้าโครงการอาหารกลางวัน หากเหลือใช้ก็นำไปจำหน่ายผ่านสหกรณ์ของโรงเรียน

แม้โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา จะเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน แต่ก็เป็นโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการปลุกจิตสำนึกพื้นฐานการดำรงชีวิต เพื่อให้นักเรียนมีจิตสำนึกที่ดีต่อประเทศชาติและศาสนา จึงปลูกฝังการเกษตรและส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ในสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้มากที่สุด ซึ่ง ปี 2557 ที่ผ่านมา โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา ก็ได้รับรางวัลยุวเกษตรดีเด่นระดับประเทศ ท่านใดสนใจแนวทางการส่งเสริมการเกษตรและกิจกรรมยุวเกษตร ติดต่อได้ที่ โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา หมู่ที่ 2 ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา หรือ คุณนาซอฟะห์ หะยีเอาะยา ผู้อำนวยการ โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา โทร. (081) 963-6596 และ อาจารย์แวซอและ มะลี ที่ปรึกษายุวเกษตร โทร. (081) 898-2213

ร.ร. บ้านกองม่องทะ-ร.ร. ตชด. สหธนาคารกรุงเทพ 2 โรงเรียน ทำเกษตรที่สูง สังขละบุรี

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 27 ฉบับที่ 598

เยาวชนเกษตร

สุจิต เมืองสุข

ร.ร. บ้านกองม่องทะ-ร.ร. ตชด. สหธนาคารกรุงเทพ 2 โรงเรียน ทำเกษตรที่สูง สังขละบุรี

จังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยมากนัก แต่ในจังหวัดนั้นมีอำเภอที่ต้องใช้เวลาเดินทางค่อนข้างยาวนาน คืออำเภอสังขละบุรี ที่เส้นทางไม่ได้เป็นพื้นที่ราบทั้งหมด แต่เป็นพื้นที่สูงสลับภูเขา ทั้งยังมีพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้มีชนกลุ่มน้อยหรือชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง แต่อยู่ในเขตประเทศไทย ซึ่งเป็นที่มาของเยาวชนเกษตร เรียนรู้การทำการเกษตรบนพื้นที่สูง

คุณวรวิทย์ คำสิงห์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี (เกษตรที่สูง) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนบ้านกองม่องทะ ตำบลไร่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีว่า เป็นโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาขนาดกลางมาก่อน และขยายโอกาสเปิดสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนทั้งสิ้น 500 คน แต่กระจายการเรียนการสอนไปยังสาขาต่างๆ ตามหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเขา และอยู่ห่างไกลความเจริญ สำหรับเด็กนักเรียนไม่สามารถเดินทางมาเรียนยังโรงเรียนบ้านกองม่องทะแห่งนี้ได้ เพราะเส้นทางที่เดินทางมาเรียนมีความลำบาก นักเรียนส่วนหนึ่งจึงกระจายไปเรียนยังสาขาต่างๆ ของโรงเรียน จึงมีนักเรียนที่มาเรียนในโรงเรียนบ้านกองม่องทะในทุกวัน เพียง 250 คน เท่านั้น

การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรที่สูง สำหรับนักเรียนในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร คุณวรวิทย์ บอกว่า ทำได้ยากลำบาก เพราะนักเรียนต้องหมดเวลาไปกับการเดินทาง และพื้นที่โรงเรียนที่มีที่ตั้งบนที่สูงส่วนใหญ่มีพื้นที่จำกัด ทำให้จัดการพื้นที่ทำการเกษตรได้น้อย ซึ่งโรงเรียนบ้านกองม่องทะอยู่ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวในตำบลไร่โว่ จึงส่งเสริมให้นักเรียนรับซื้อข้าวไร่จากชาวบ้าน นำมาสีเองด้วยเครื่องสีข้าวโบราณที่มีอยู่ และใช้ครกกระเดื่องตำข้าว ให้ได้ข้าวกล้อง และบรรจุถุงขายให้กับนักท่องเที่ยว เป็นรายได้ให้กับนักเรียน

น้องนิดหน่อย นางสาวทิพวรรณ ณัฐภัทรานนท์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา ศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านกองม่องทะ ที่ยังคงมาช่วยเหลือกิจกรรมด้านการเกษตรให้กับน้องๆ ที่โรงเรียนบ้านกองม่องทะอยู่เสมอ เพราะอาศัยอยู่ไม่ห่างจากโรงเรียนมากนัก อีกทั้งเห็นว่า โรงเรียนบ้านกองม่องทะขาดผู้มีความรู้ช่วยส่งเสริมงานเกษตรให้กับน้องๆ จึงละเลยไม่ได้ ทุกครั้งที่มีเวลาว่างน้องนิดหน่อยจึงมาช่วยน้องๆ ทำงานเกษตรเป็นประจำ

“หนูเรียนที่บ้านกองม่องทะถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตอนที่เป็นนักเรียนโรงเรียนบ้านกองม่องทะ ได้ทำกิจกรรมเกษตรหลายอย่าง เช่น เลี้ยงกบคอนโดฯ เลี้ยงไก่ เพาะเห็ด ปลูกผัก เมื่อเรียนจบไปก็ใช้เวลาว่างแวะมาให้คำปรึกษาและแนะนำกับน้องๆ เช่น ดูแลเห็ดอย่างไร เลี้ยงไก่อย่างไร การทำบ่อกบให้มิดชิดป้องกันงูที่จะมากินกบ ซึ่งนอกจากจะใช้ประสบการณ์ที่ทำการเกษตรภายในโรงเรียนมาก่อนหน้านี้แนะนำน้องๆ แล้ว ในทุกครั้งที่หนูมีเวลาว่างและมีอบรมด้านการเกษตรต่างๆ หนูจะสมัครเข้าอบรม และนำความรู้ส่วนที่ได้รับจากการอบรมมาถ่ายทอดให้กับน้องๆ ที่โรงเรียนบ้านกองม่องทะด้วย”

น้องนิดหน่อย บอกด้วยว่า การอบรมกิจกรรมด้านการเกษตรต่างๆ ช่วยให้เข้าใจการทำการเกษตรและนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตัวของเธอเองนำมาใช้กับที่บ้าน ซึ่งมีพื้นที่อยู่ 4 ไร่ และปลูกผักหลายชนิด เพื่อให้ได้มีผักหลายอย่างกิน เช่น ขมิ้น พริก ถั่ว อ้อย ข้าวโพด กล้วย เป็นต้น และไม่ได้ตั้งใจปลูกเชิงพาณิชย์ แม้จะมีพื้นที่มาก แต่ก็ตั้งใจมีไว้เพื่อกินอย่างพอเพียง ไม่ต้องเสียเงินซื้อ แต่หากมีผลผลิตเหลือเกินความต้องการจะแบ่งให้กับคนในหมู่บ้าน เป็นการแบ่งปันและอยู่อย่างพอเพียง

ด้าน น้องพร นางสาวชนุพร อยู่คง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา รุ่นพี่อีกคนที่เรียนจบจากโรงเรียนบ้านกองม่องทะในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าให้ฟังว่า ตัวน้องพรเป็นชาวซองกาเลีย ตอนเป็นนักเรียนโรงเรียนบ้านกองม่องทะ ได้ทำกิจกรรมทางการเกษตรหลากหลาย เช่น เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงกบ มีการแบ่งเวรดูแลแต่ละกิจกรรม นักเรียนที่โรงเรียนบ้านกองม่องทะมีความรับผิดชอบสูง เพราะเด็กนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ห่างไกลโรงเรียนและน้อยคนที่จะทำการเกษตรที่บ้าน จึงต้องอาศัยเรียนรู้จากโรงเรียนเป็นหลัก สำหรับตัวของน้องพรเอง เมื่อเรียนรู้การทำการเกษตรจากโรงเรียน ก็นำไปปรับใช้ที่บ้าน โดยการปลูกผักสวนครัว เช่น ชะอม กะเพรา

“ข้าวที่รับซื้อจากชาวนา นักเรียนโรงเรียนบ้านกองม่องทะจะลงไปเกี่ยวข้าวเอง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง นำมาสีด้วยเครื่องสีข้าวโบราณและตำด้วยครกกระเดื่อง เมื่อได้ข้าวสารก็นำไปกินในโรงเรียนและนำไปขายให้กับนักท่องเที่ยว”

โรงเรียนอีกแห่งที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง แต่มีกิจกรรมส่งเสริมการเกษตรให้กับนักเรียนเช่นกัน คือโรงเรียน ตชด. สหธนาคารกรุงเทพ ตำบลหนองรู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเด็กนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวเขา ฐานะยากจน จำเป็นต้องส่งเสริมให้เด็กนักเรียนรู้จักการทำเกษตรและการอยู่อย่างพอเพียง เด็กชายสมโภชน์ ไม่มีนามสกุล หรือ น้องเสือทา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กล่าวว่า โรงเรียนเปิดสอนแค่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมีพื้นที่มาก แต่อยู่ห่างไกลความเจริญ ทำให้ต้องเรียนรู้การอยู่รอดในสังคมและชีวิตประจำวัน โรงเรียนจึงปลูกผักสวนครัวหลายชนิด เพื่อนำไปประกอบอาหารกลางวัน ซึ่งโรงเรียนมีกิจกรรมยุวเกษตร ให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เข้าร่วมกิจกรรม แบ่งกลุ่ม 8 กลุ่ม กลุ่มละ 15 คน เพื่อดูแลกิจกรรมทั้งหมดอย่างทั่วถึง

กิจกรรมการเกษตรภายในโรงเรียน ตชด. สหธนาคารกรุงเทพ แบ่งออกเป็น การเลี้ยงไก่ไข่ยืนกรง การเลี้ยงหมู การเลี้ยงเป็ด การเลี้ยงปลาดุกบ่อซีเมนต์ การเพาะเห็ดนางฟ้า การปลูกผักสวนครัว ได้แก่ ผักกระเฉด ผักบุ้ง มะเขือ มะนาว ผักคะน้า พริก ผักกาดขาว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังปลูกไม้ผลไว้ทุกแห่งที่มีพื้นที่ว่าง เช่น กล้วย เงาะ มะละกอ เป็นต้น

น้องเสือทา บอกว่า ทุกวันยุวเกษตรที่ดูแลแปลงปลูกผักต้องรดน้ำในตอนเช้าและเย็น ใช้ซาแรนคลุมแปลงผักไว้ในเวลากลางวันช่วงฤดูร้อน เพราะความร้อนของแสงแดดจะทำให้ผักไม่สด ส่วนการเลี้ยงไก่และเป็ดในทุกวันจะเก็บไข่ไก่และไข่เป็ด ให้อาหาร และจดบันทึกจำนวนไข่ นำไข่ไปส่งให้กับสหกรณ์ของโรงเรียน จากนั้นจะนำไปประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียน ผลผลิตทุกอย่างภายในโรงเรียนจะผ่านระบบของสหกรณ์โรงเรียน หากผลผลิตเหลือจากการประกอบอาหารกลางวันของนักเรียนแล้ว จะจำหน่ายให้กับชาวบ้านในราคาถูกกว่าท้องตลาด

เด็กชายทรงยศ ไม่มีนามสกุล หรือ น้องหาง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บอกว่า กิจกรรมยุวเกษตรทุกๆ กิจกรรม นักเรียนจะต้องมาทุกวัน ไม่เว้นวันเสาร์-อาทิตย์ สำหรับผมชอบการปลูกผัก จึงเข้ากลุ่มปลูกผัก และผักที่ดูแลง่ายที่สุดคือ ผักบุ้ง ส่วนผักที่ดูแลยากที่สุดคือ มะเขือ ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การปลูกผักเป็นเรื่องยากคือ ดินที่ใช้ปลูกเป็นดินแดง ผลผลิตที่ได้จึงไม่ค่อยดีนัก

“สำหรับผม การทำการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต เพราะบ้านและโรงเรียนอยู่ในที่ทุรกันดาร ครอบครัวไม่มีสัญชาติไทย จึงไม่มีนามสกุล อาจทำให้ผมเรียนได้ไม่สูง หรือหางานทำได้ยาก ไม่เหมือนเด็กนักเรียนที่อื่น ดังนั้น ถ้าผมทำเกษตรเป็น วันหนึ่งผมจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมหาเลี้ยงชีพ โดยไม่ต้องพึ่งพาใครก็ได้”

โรงเรียนบ้านกองม่องทะ และโรงเรียน ตชด. สหธนาคารกรุงเทพ เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ห่างไกลความเจริญ แต่ความตั้งใจของเด็กนักเรียนทั้งสองโรงเรียนไม่ต่างกัน เขามีความมุ่งมั่นในการศึกษาและพร้อมเรียนรู้เพื่ออนาคต ซึ่งแน่นอนว่าความพร้อมของปัจจัยในการส่งเสริมโรงเรียนทั้งสองแห่งไม่ครบถ้วนเช่นโรงเรียนในเขตเมืองแห่งอื่น

หากมีข้อเสนอแนะหรือให้คำแนะนำ ติดต่อได้ที่ คุณวรวิทย์ คำสิงห์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี (เกษตรที่สูง) โทรศัพท์ (086) 392-7623 และ (085) 425-6042

โรงเรียนฯ เทศบาลเมืองทุ่งสง สร้างภูมิความรู้เรื่องปลา ผ่านกิจกรรมอนุรักษ์คลองท่าแพ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05092150458&srcday=2015-04-15&search=no

วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 27 ฉบับที่ 597

เยาวชนเกษตร

วันชัย วชิรศศิธร

โรงเรียนฯ เทศบาลเมืองทุ่งสง สร้างภูมิความรู้เรื่องปลา ผ่านกิจกรรมอนุรักษ์คลองท่าแพ

โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา ที่เริ่มเปิดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในปีการศึกษา 2557 ทำให้มีเด็กนักเรียนระหว่างชั้น ม.1 ถึง ม.4 และจะเปิดชั้นเรียน ม.5 ในปีการศึกษา 2558 ต่อไป โดยปัจจุบัน มีนักเรียนอยู่เกือบ 700 คน

โรงเรียนแห่งนี้ได้พยายามสร้างสมผลงานด้านการศึกษาในแนวทางต่างๆ ภายใต้การบริหารงานของ คุณโชคดี อิ้ววังโส ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะผู้บริหาร ครู 55 คน ด้วยปรัชญาที่ว่า “สุวิชาโน ภวํ โหติ” (ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ)

คุณโชคดี อิ้ววังโส ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองทุ่งสง กล่าวว่า ในฐานะที่โรงเรียนได้รับมอบหมายให้เป็นโรงเรียนสอนระดับมัธยมศึกษา ชั้น ม.1 ถึง ม.6 ได้ย้ายเด็กประถม ไปร่วมกับโรงเรียนอื่นในสังกัดเทศบาลเหมือนกันหมดแล้ว ก็เปิดชั้น ม.4 ปีการศึกษา 2557 และจะเปิดครบชั้น ม.6 ในปีการศึกษา 2559 ทำให้ต้องวางแนวทางจัดการศึกษาสาระเพิ่มเติมในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ ที่สนองตอบนโยบายของเทศบาลด้วย

โดยหนึ่งในโครงการที่สำคัญคือ การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยโรงเรียนมีหน้าที่ปลูกฝังให้เด็กนักเรียนมีจิตสำนึกระหว่างศึกษาอยู่ในโรงเรียน ซึ่งมีโครงการอนุรักษ์คลองท่าแพ ของเทศบาลเป็นหลัก

ทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมย่อยหลายอย่าง เพื่อขับเคลื่อนโครงการ ทั้งนี้ ทางโรงเรียนยังได้จัดทำหลักสูตรร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช อำเภอทุ่งสง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้และฝึกฝนกับโครงงานระดับมหาวิทยาลัย ด้วยความสนใจใคร่รู้มากยิ่งขึ้นด้วย

คุณโชคดี กล่าวอีกว่า ในการทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนที่พาเด็กเข้าร่วมกับทางมหาวิทยาลัย กับทางชุมชนคลองท่าแพ และทางเทศบาลเมืองทุ่งสง ด้วยความตั้งใจให้เด็กได้เรียนรู้ รักธรรมชาติรอบตัวเรา และรักถิ่นที่อยู่ ให้นึกรู้ และคิดเป็น ว่า สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานั้น มีคุณค่า ควรค่าที่จะรักษาไว้ หรือมีไว้ใช้ได้อย่างยาวนานที่สุด

ซึ่งทางคณะผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานประจำโรงเรียน ต่างทำหน้าที่ให้ความรู้และปลูกฝังเด็กนักเรียนด้วยความตั้งใจอย่างซื่อสัตย์ และสุจริตต่อหน้าที่ และต่อเด็กนักเรียนทุกคน จนกระทั่งตัดสินใจทำขึ้นเป็นโครงงานส่งเข้าประกวด กับโครงการรักชาติถูกทาง สร้างเสริมความซื่อสัตย์สุจริต ประจำปี 2557 ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้รับรางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นับเป็นเกียรติยศและความภูมิใจของทุกคนที่ร่วมกันเป็นกำลังใจที่ดี และสร้างความตั้งใจให้ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริตกันอย่างเต็มที่ต่อไปอีก

คุณอัมพร รัตนมูสิก อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ สาขาประมง มทร. ศรีวิชัย กล่าวว่า ทางโรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองทุ่งสง ได้ประสานกับทางมหาวิทยาลัย ให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา และจัดทำหลักสูตรสาระเพิ่มเติมของกลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ รวม 4 ด้านกิจกรรม คือ

1. กิจกรรมการใช้ประโยชน์ของที่ดินริมคลองท่าแพ

2. กิจกรรมการศึกษาระบบนิเวศของคลองท่าแพ

3. กิจกรรมการศึกษาชนิดพันธุ์ปลาในคลองท่าแพ

4. กิจกรรมการอนุรักษ์คลองท่าแพแบบชุมชนมีส่วนร่วม

โดยตนเองรับผิดชอบในกิจกรรมที่ 3 ซึ่งจริงๆ แล้วนั้น เข้ามาตั้งแต่ปี 2554 โดยการนำนักศึกษาของสาขาประมง ออกมาทำกิจกรรมในคลองท่าแพ และร่วมกับทางโรงเรียนในที่สุด

คุณอัมพร กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนกิจกรรมนั้น เริ่มตั้งแต่การสำรวจลำคลอง ถึงชนิดของปลาที่มีอยู่ในคลองท่าแพ ซึ่งตรวจพบแล้ว ประมาณ 40 ชนิด โดยจะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการสร้างวังปลา การสร้างเครื่องมือประมง กิจกรรมปล่อยปลา กิจกรรมเพาะพันธุ์ปลา

จุดสำคัญคือ ต้องใช้เครื่องมือสำรวจ ที่ต้องไม่มีผลกระทบต่อปลาและสิ่งแวดล้อมของคลอง เช่น ใช้ลอบ หรือไซผี ที่หลอกปลาเข้ามาติดในไซ เป็นต้น ส่วนปลาที่พบก็จะเป็นปลาพื้นบ้าน ปลาประจำถิ่น…

ปลาต่างๆ เหล่านี้ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. ปลาหายาก ที่พบแล้วอยากเอาคืนกลับมาปล่อยลงคลองอีก เช่น ปลาหุด หรือปลาพุด หรือปลาแดง มีขนาดเมื่อโตเต็มวัย ประมาณ 15-20 เซนติเมตร ส่วนการแพร่กระจายพันธุ์นั้น ด้วยเป็นปลาน้ำจืด จะอาศัยอยู่ต้นน้ำตาปี เทือกเขาหลวง ในอำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ซึ่งมีการจำแนกชนิดด้วยเป็นปลาที่จะบอกฤดูกาล คือ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม เป็นการบอกถึงฤดูกาลทำนานั่นเอง ก็จะพบปลานี้ในแหล่งน้ำ โดยปลาจำพวกนี้ ตัวเมียมีไข่เต็มท้อง จะล่องลงจากต้นน้ำตาปีสู่ปากอ่าวที่สุราษฎร์ธานี เพื่อวางไข่ เป็นการบอกฤดูกาลทำนาของชุมชนในพื้นที่ และมักพบถิ่นอาศัยตามต้นน้ำ

2. ปลามีศักยภาพ คือปลาที่นำมาเพาะขยายพันธุ์ได้ง่าย เช่น ปลาแก้มช้ำ มีชื่อสามัญว่า Red cheek barb, Javaen barb และ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Systomus rubripinnis โดยจะมีขนาดโตเต็มวัย ประมาณ 25 เซนติเมตร และมีการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปทุกภูมิภาคของไทย ส่วนการจำแนกชนิด จะดูรูปร่างป้อม กลม ด้านข้างแบน หัวเล็ก ปากค่อนข้างเล็ก มีหนวดสั้นๆ จำนวน 4 เส้น มีเกล็ดค่อนข้างใหญ่ ลำตัวมีสีขาวเงิน ฝาปิดเหงือกมีสีแดงหรือสีส้ม เหมือนรอยช้ำ ครีบทั้งหมดมีสีแดง ครีบหางจะมีสีแถบดำ

คุณสิทธิโชค จันทร์อุดม ประธานกรรมการนักเรียน โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองทุ่งสง กล่าวว่า “ในวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งมี ครูอัจฉราพร บุญส่ง เป็นผู้สอน โดยมีคณาจารย์จาก มทร. ศรีวิชัย ร่วมฝึกกิจกรรม ทั้งไปที่มหาวิทยาลัย และลงพื้นที่ในคลองท่าแพ รู้สึกชื่นชอบ ที่นอกจากจะได้ความรู้ในเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในคลองท่าแพ ที่มีเรื่องราวมากมาย แค่ปลาอย่างเดียวก็มีตั้ง 40 ชนิด แถมยังมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมกับรุ่นพี่ มทร. ด้วย การเรียนรู้มากมายจริงๆ”

“ส่วนปลาที่แปลกที่เจอก็คือ ปลาลิ้นแมว คล้ายปลาดุก แต่ตัวเล็กกว่า เมื่อโตเต็มที่ ยาวไม่เกิน 4 นิ้ว เท่านั้น เราถือเป็นเด็กต่างจังหวัดที่โชคดี ได้โอกาสนี้มาครับ” คุณสิทธิโชค กล่าวทิ้งท้าย

เยาวชนเลือดใหม่ ชาวนาขนตางอน

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05094010458&srcday=2015-04-01&search=no

วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 27 ฉบับที่ 596

เยาวชนเกษตร

สุจิต เมืองสุข

เยาวชนเลือดใหม่ ชาวนาขนตางอน

ความศิวิไลซ์และเทคโนโลยีที่รุดหน้าจนฉุดไม่อยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้เยาวชนในยุคนี้ มองข้ามรากฐานการดำรงชีวิตที่แท้จริงของคนไทย ซึ่งมีรากฐานมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมกว่าค่อนประเทศ แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่ยังมีกลุ่มเยาวชนที่เห็นความสำคัญในการสานต่ออาชีพของบรรพบุรุษ และหนึ่งในนั้น ก็พร้อมเปิดประสบการณ์และแนวคิดให้เป็นตัวอย่าง

รางวัล Young Smart Farmer ต้นแบบ เป็นรางวัลที่ คุณพิจาริณี รักศรี เพิ่งได้รับมาหมาดๆ จากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลที่มอบให้กับเยาวชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีมุมมองแตกต่าง มีความคิดสร้างสรรค์และประยุกต์ใช้ในสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ เรียกได้ว่าเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการเกษตร

คุณพิจาริณี สาวน้อยวัย 26 ปี เพิ่งจบการศึกษาจากสถาบันพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาช่างทองหลวง เอกงานเครื่องประดับอัญมณี ที่ดูเหมือนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกษตรแม้แต่น้อย แต่เพราะรากฐานเดิมของบรรพบุรุษทำนา และปัจจุบันคุณพิจาริณีมีมารดาเพียงคนเดียว ยึดอาชีพทำนา และการทำนาก็เป็นอาชีพเดียวที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวรักศรี ทำให้คุณพิจาริณีทิ้งอาชีพในฝันมาจับคราดคันไถ

คุณพิจาริณี พร้อมเปิดประสบการณ์และแนวคิดให้เป็นตัวอย่างกับเยาวชนรุ่นหลัง เธอบอกว่า เธอก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป รักสวยรักงาม อยากเดินห้างสรรพสินค้า ช็อปปิ้ง เล่นอินเตอร์เน็ต และอยากทำงานตามความฝันตรงกับสาขาที่ร่ำเรียนมา แต่ถึงวันนี้คุณพิจาริณีกลับสวมงอบ เท้าย่ำโคลน หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เฉกเช่นชาวนาทั่วไป

“แรงบันดาลใจจริงๆ คือ แม่ แม่เป็นชาวนาตั้งแต่จำความได้ แม่ทำนา 15 ไร่ คนเดียว ส่งให้หนูเรียน ตัวหนูเองต้องไปอยู่คนเดียวต่างจังหวัดห่างจากบ้านเกิด มีแม่ส่งเงินไปให้เรียนตั้งแต่ชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี เป้าหมายเดิมจริงๆ อยากเป็นนักออกแบบจิวเวอรี่ มารู้สึกอยากกลับบ้านมาเป็นชาวนาช่วยแม่ ตอนเรียนอยู่ปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 เพราะเห็นว่าแม่ทำงานหนัก จึงคิดว่าการกลับมาเป็นชาวนาช่วยแม่ อยู่กับแม่ น่าจะดีที่สุด”

ทันทีที่จบการศึกษา คุณพิจาริณีเดินทางกลับบ้านเกิด ที่ตำบลท่าไม้ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ โดยไม่คิดรอหรือสมัครงานที่ไหน เหตุที่มุ่งหน้ากลับบ้านเกิด เพราะต้องการเรียนรู้การเป็นชาวนาจากแม่ผู้ให้กำเนิด ท่ามกลางการทักท้วงของเพื่อนๆ ที่เห็นว่าเกรดเฉลี่ยที่เรียนจบมาค่อนข้างสูง โอกาสได้งานตามสายงานมีมาก และการกลับมาเป็นชาวนาครั้งนี้ อาจทำให้ชีวิตของคุณพิจาริณีเปลี่ยนไป แต่สำหรับคุณพิจาริณี มองว่า การได้กลับมาบ้านเกิดและสานต่อผืนนาและการเกษตรที่ครอบครัวทำไว้ คือที่สุดของชีวิต

ภาพชาวนาในสายตาเพื่อนๆ นักศึกษาของคุณพิจาริณี มองว่า ชาวนาต้องตรากตรำทำงานหนัก ตากแดด ตัวดำ เท้าเปื้อนโคลน กลบแววความสดใสของวัยรุ่นอย่างคุณพิจาริณี แต่สำหรับคุณพิจาริณี มีแม่เป็นแรงบันดาลใจ จึงทำให้ความคิดเหล่านั้นถูกสลัดออก และขอเป็นเกษตรกรด้วยใจจริง ทั้งยังเห็นว่า “ชาวนา” ควรได้รับการยอมรับเฉกเช่นอาชีพอื่น แม้จะมีบางมุมที่มอมแมมไปบ้าง แต่ก็ต้องมีที่ยืนในสังคม

กลับมาระยะแรก แม่ยังคงทำนา 15 ไร่ เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว เพาะกล้าและรับจ้างโยนกล้า มีคนงานที่ช่วยงานประมาณ 10 คน ขณะที่คุณพิจาริณีเอง ก็เริ่มต้นเรียนรู้การเป็นชาวนาด้วยการทำทุกอย่างที่คนงานทำ โดยมีแม่เป็นผู้ให้ประสบการณ์

“ตอนลงทุ่งนา หนูหน้ามืดเป็นลมล้มไปเลย ตอนนั้นแม่บอกว่า ไม่ต้องออกมาช่วยถ้าล้มแบบนี้ ตอนนั้นคิดว่า การเป็นชาวนาเหนื่อยมากจริงๆ แต่ก็ต้องไหว เพราะแม่เราทำไหว และอีกครั้งที่รู้สึกท้อ สับสนในตัวเอง นั่งร้องไห้ เพราะแค่สั่งคนงานยังทำไม่ได้ แต่เมื่อนึกถึงว่า เกษตรกรคือรากฐานของประเทศ แม่เราก็เป็นเกษตรกร แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ หลังจากนั้นไม่เคยนึกท้ออีกเลย”

ความตั้งใจและมุ่งมั่น ส่งผลให้คุณพิจาริณีประสบความสำเร็จ เธอทำนา โยนกล้า เพาะกล้า ร่อนดิน เกี่ยวข้าว ตลอดระยะเวลา 1 ปี ผ่านการโยนกล้ามาหลายร้อยไร่ เพาะกล้าหลายหมื่นถาด สิ่งเหล่านั้นคุณพิจาริณีบอกว่า ทำให้เธอเข้มแข็งขึ้น

นับจากวันแรกถึงวันนี้ เป็นเวลาเกือบ 3 ปี สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่คุณพิจาริณีกลับสู่ถิ่นกำเนิด เธอต่อยอดการทำนา เพาะกล้า รับโยนกล้า จากที่แม่เคยทำไว้เดิม เป็นการเพาะกล้าซ่อม การโยนกล้าให้เป็นแถวตามความต้องการของเกษตรกร การเพาะต้นอ่อนทานตะวันขาย การปลูกข้าวปลอดสารเคมี เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวญี่ปุ่น ไว้รับประทานและแพ็กถุงจำหน่าย

การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวญี่ปุ่น เป็นการทำนาปลอดสาร คุณพิจาริณี เห็นว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวญี่ปุ่น เป็นข้าวที่เธอและแม่ชอบรับประทานอยู่แล้ว จึงคิดปลูกไว้รับประทานเอง โดยลงแปลงปลูกไว้กลางสวนใกล้บ้าน เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นสถานที่ที่ปลอดสารเคมีมากที่สุด และดูแลโดยใช้สารชีวภาพ เช่น น้ำหมักหน่อกล้วย ฮอร์โมนไข่ และตำบอระเพ็ดนำไปฉีดไล่แมลง ซึ่งผลผลิตที่ได้มากพอเหลือจากรับประทาน แพ็กถุงขาย ทั้งยังรับออกแบบแพ็กเกจบรรจุข้าวสำหรับงานมงคลต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี

การเพาะต้นอ่อนทานตะวัน คุณพิจาริณี เพาะไว้เพื่อรับประทาน แต่มีลูกค้าสั่งซื้อเป็นระยะ การเพาะต้นอ่อนทานตะวันขาย จึงเป็นการเพาะขายตามออเดอร์ ซึ่งมีลูกค้าสั่งไว้ล่วงหน้าและรอสินค้าทุกวัน นอกจากนี้ ยังเพาะเห็ดภูฏาน 50 ก้อน ต้นกระเจี๊ยบ ผักสวนครัวอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อแบ่งรับประทานและแจกจ่ายให้กับคนงาน

การเพาะกล้าซ่อมขาย ตรงนี้ คุณพิจาริณีฉุกคิดจากการที่เห็นความเสียหายของต้นกล้าในนา จากฟ้า ฝน นก และหนู ซึ่งชาวนาต้องการให้ข้าวเต็มนาตามเดิม หากจะเพาะกล้าปลูกใหม่ก็คงเจริญเติบโตไม่เท่าต้นเดิม แนวคิดนี้ทำให้มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหลายพื้นที่สนใจสั่งซื้อกล้าจากคุณพิจาริณีจำนวนมาก โดยเฉพาะฤดูฝน สามารถขายกล้าได้ 70,000-80,000 ต้น ต่อวัน

จุดเด่นของเยาวชนเกษตรคนนี้คือ การคิดรูปแบบการโยนกล้าให้เป็นแถว แม้ว่า “ตัวตีตารางปาเป้า จัดระเบียบแถวกล้าโยน” จะเป็นแนวคิดที่เริ่มต้นจากแม่ แต่คุณพิจาริณีก็เป็นผู้ต่อยอดให้เครื่องนี้ใช้งานได้จริง ซึ่งเครื่องดังกล่าวใช้แรงงานคนโยนกล้า แต่โยนให้เป็นแถวได้โดยไม่ใช้เครื่องจักร สามารถโยนกล้าให้เป็นแถวตามความต้องการของลูกค้า เช่น ระยะห่างของต้นกล้า 30X16 เซนติเมตร 25X25 เซนติเมตร หรือ 30X30 เซนติเมตร เป็นต้น

“เราเรียกว่า ตัวตีตารางปาเป้า จัดระเบียบแถวกล้าโยน ทำจากท่อ พีวีซี และโครงเหล็กนิดหน่อย มีน้ำหนักเบา เหมาะกับผู้ใช้งานที่เป็นผู้หญิง ตัวตีตารางปาเป้าได้เปรียบกว่ารถดำนา ตรงที่ต้องการดำกล้าตรงไหน ก็สามารถปรับไซซ์ได้ พื้นที่ไม่สม่ำเสมอก็สามารถโยนกล้าได้ รถดำนาไม่สามารถทำร่องน้ำได้ แต่แรงงานคนสามารถทำได้ นอกจากนี้ กล้าก็จะไม่ช้ำและกอสูงกว่าการใช้รถดำนา เพราะรากไม่ฉีกขาด และกดลงไม่ลึกไปกว่า 2 เซนติเมตร ซึ่งตามหลัก หากปักกล้าลงลึกกว่า 2 เซนติเมตร จะทำให้กล้าไม่สูง และรถดำนาจะฉีกรากแล้วกดลงลึกกว่านั้น”

ความสามารถในการโยนกล้าระยะแรก ทำได้เพียง 3-5 ไร่ ต่อวัน แต่ปัจจุบัน เริ่มมีความชำนาญมากขึ้น สามารถโยนกล้าได้มากถึง 7 ไร่ ต่อวัน คิดค่าใช้จ่ายรวมกล้า เพียงไร่ละ 1,800 บาท

คุณพิจาริณี บอกว่า ตัวตีตารางปาเป้า จัดระเบียบแถวกล้าโยน อยู่ระหว่างการจดอนุสิทธิบัตร เพราะถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดขึ้นมาใหม่ ยังไม่มีใครคิดเครื่องมือที่ช่วยให้การโยนกล้าด้วยแรงงานคนตรงตามจุดและมีระยะห่างของต้นกล้าที่ต้องการได้ จึงเป็นสิ่งที่ตนและแม่รู้สึกภูมิใจมาก

ความตั้งใจหลังการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรประสบผลสำเร็จ คุณพิจาริณี อยากเห็นผลผลิตที่ได้จากแนวคิดของเธอ ไปวางจำหน่ายยังห้างสรรพสินค้าขนาดเล็ก และมุ่งหวังให้การทำเกษตรกรรมภายในครอบครัวครบวงจร

ปัจจุบัน คุณพิจาริณี สร้างเพจทางเฟซบุ๊กขึ้นมา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ที่มีแนวคิดเดียวกันกับเธอ โดยใช้ชื่อเพจว่า “ชาวนาขนตางอน”

ท้ายที่สุด คุณพิจาริณี รักศรี ฝากถึงเยาวชนที่กำลังเติบโตบนเส้นทางที่ใฝ่ฝัน หากมีรากฐานครอบครัวที่ทำเกษตรกรรม ไม่ลืมรากฐานความเป็นเกษตรของคนไทย ลองหันกลับไปมองอาชีพเกษตรกรรมว่าเป็นอาชีพที่ควรสืบทอดให้มีอยู่ต่อไป และเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า เกษตรกรมีรายได้ อยู่ได้ และมีความสุข

เยาวชนเกษตรสาวสวย ที่การันตีด้วยรางวัล Young Smart Farmer ต้นแบบจังหวัดนครสวรรค์คนนี้ ยินดีต้อนรับ ผู้ที่สนใจศึกษาดูงานจากเธอ หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พูดคุยเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (082) 295-0907

สตรีมารดาฯ น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกความคิดคนรุ่นใหม่

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05090010358&srcday=2015-03-01&search=no

วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 27 ฉบับที่ 594

เยาวชนเกษตร

สุจิต เมืองสุข

สตรีมารดาฯ น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกความคิดคนรุ่นใหม่

ทักษะ “การคิดวิเคราะห์” ยังเป็นจุดอ่อนของเด็กไทยมาต่อเนื่องยาวนาน ผลตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการครั้งล่าสุด ปี 2557 ยอมรับว่า เด็กไทยยังมีทักษะการคิดวิเคราะห์ต่ำ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาอย่างจริงจัง จากปัญหาข้างต้นนี้ โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จังหวัดจันทบุรี เป็นโรงเรียนหนึ่งที่เล็งเห็นปัญหา และได้น้อมนำเอา “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา-พัฒนา ทักษะ “การคิด” ให้แก่ลูกศิษย์ ตั้งแต่ ปี 2549 เป็นต้นมา จนทุกวันนี้ความพยายามได้ผลิดอกออกผล

ครูบุญยรัตน์ ลมงาม หรือ ครูนก หัวหน้างานเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน โดยเริ่มต้นจากตัวครูศึกษาทำความเข้าใจ และนำไปใช้จริงกับตัวเองก่อนเป็นที่แรก ในส่วนของครูนก เศรษฐกิจพอเพียงทำให้ครูนกเปลี่ยนจากเป็นคนใจร้อน ยึดมั่นในความคิดของตัวเอง และเป็นคนพูดตรง จนกระทบจิตใจผู้อื่น มาเป็นคนที่ใจเย็นลง มีท่าทีการสื่อสารกับผู้อื่นด้วยน้ำเสียงและถ้อยคำที่นุ่มนวลขึ้น ในด้านการทำงานก็เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนทำงานสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง เพราะขาดกระบวนการทำงานที่ดี มาเป็นหยุดและตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า เรารู้เรื่อง ที่เราทำมากน้อยแค่ไหน ต้องหาความรู้อะไรเพิ่มเติม เมื่อเลือกที่จะทำแล้ว ก็ต้องทำอย่างพอดี มีเหตุผล มีการวางแผน และมีคุณธรรม งานที่ได้จึงสำเร็จ

เมื่อพิสูจน์ผลกับตัวเองจนคณะครูมั่นใจแล้ว จึงเริ่มปลูกฝังแก่ลูกศิษย์ โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ได้มอบหมายให้ครูทุกคนน้อมนำพระราชดำรัสไปออกแบบการเรียน การสอน สอดแทรกลงสู่ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ พร้อมๆ กับการติดตามประเมินผลทั้งผู้เรียนและครูผู้สอน สำหรับ “กิจกรรมนอกห้องเรียน” ครูนก ในฐานะหัวหน้างานเศรษฐกิจพอเพียงได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงผ่านการลงมือทำ ได้ฝึกคิด ฝึกทำงาน ในสถานการณ์จริง ยกตัวอย่าง การเข้าร่วมค่ายเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียง จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ในค่ายเด็กๆ เลือกทำโครงการจิตอาสา สอนภาษาอังกฤษให้น้องนักเรียน ชั้น ป.3-ป.4 โรงเรียนวัดไผ่ล้อม จังหวัดจันทบุรี เพื่อให้น้องๆ เกิดทัศนคติที่ดีต่อวิชาภาษาอังกฤษ

“หลังจากสอนให้เด็กรู้จักเศรษฐกิจพอเพียงว่าคืออะไร ประกอบด้วยอะไรแล้ว เราต้องพยายามผลักดันให้เขาได้นำไปใช้ ได้ลงมือทำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น แล้วเราก็กลับมาพูดคุยกันทุกครั้งจนเป็นนิสัย ระหว่างนี้ครูนกก็จะคอยสังเกตและตั้งคำถามกระตุ้นให้เขาคิด คอยย้ำและเติมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อไม่ให้เขาหลุด เช่น เวลาเขาจะไปสอนภาษาอังกฤษให้น้อง เขาต้องมีเงื่อนไขความรู้ ครูก็จะถามเขาว่า เนื้อหาที่จะไปสอนมีอะไรบ้าง ตัวเองมีความรู้ไปสอนไหม รู้นิสัยของน้องๆ ที่จะไปสอนหรือไม่ น้องมีกี่คน เราต้องเตรียมอะไรไปบ้าง ก่อนเข้าไปสอนเราได้เข้าไปปรึกษาผู้อำนวยการโรงเรียนของน้องหรือยัง หรือเรื่องความพอประมาณ เราจะสอนน้องเวลาไหน สอนครั้งละกี่ชั่วโมง การเดินทางไปสอน ระยะทางไกลเกินไปหรือเปล่า แล้วเราจะสอนน้องลึกแค่ไหน พอประมาณกับวัตถุประสงค์ที่เราตั้งใจหรือไม่” ครูนก เล่า

ด้วยความพากเพียรของครูผู้สอน ผลลัพธ์จึงเกิดเป็นดอกผลที่ตัวศิษย์ น้องลีน่า ชวนา สุทธินราธร นักเรียนชั้น ม.6 สะท้อนว่าการทำโครงการสอนภาษาอังกฤษให้น้องๆ โรงเรียนวัดไผ่ล้อม เป็นสนามฝึกซ้อมการใช้เศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เป็นคนคิดวิเคราะห์มากขึ้น

“อย่างแรกคือ เราต้องคำนึงถึงศักยภาพของตัวเราเองก่อน เช่น พวกเราได้มีโอกาสเรียนภาษาอังกฤษกับทางโรงเรียน ได้ฝึกพูด ฝึกแสดงออก สามารถสื่อสารในสำเนียงที่ถูกต้อง เราก็อยากใช้ศักยภาพที่มีแบ่งปันให้น้องๆ เศรษฐกิจพอเพียงยังทำให้เราทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น คือรู้จักวางแผน ป้องกันความเสี่ยง ยกตัวอย่างการเตรียมน้องอาสาที่จะมาช่วยสอนภาษาอังกฤษ เราก็ต้องเตรียมเขาก่อน อธิบายให้น้องเข้าใจโครงการ รู้รายละเอียด รู้วัตถุประสงค์ รู้ลำดับขั้นตอนกิจกรรมว่าเราจะทำอะไร มีรายละเอียดอย่างไร” น้องลีน่า เล่า

ด้าน น้องเพื่อน ธัญญพัทธ์ อัครพันธุ์ทวี จาก ชั้น ม.5 ร่วมสะท้อนว่า เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าใจความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงจากครูนกและเศรษฐกิจพอเพียงก็ช่วยให้เพื่อนมีกระบวนการคิดที่ดีขึ้น

“ตอนที่หนูย้ายมาอยู่โรงเรียนนี้ ตอน ม.3 คุณครูให้ถอดบทเรียนเศรษฐกิจพอเพียงจากการทำงาน หนูก็ไม่รู้จักว่าคืออะไร ขณะที่เพื่อนคนอื่นเขาทำกันได้สบายๆ เหมือนเป็นชีวิตประจำวัน เราก็พยายามค้นหาความหมาย ถามกูเกิ้ล ในกูเกิ้ลก็ตอบเราไม่ได้ กลับไปนั่งคิดเอง แต่คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก คิดวนไปวนมาว่ามันคือ การประหยัดเหรอ มันคือการรีไซเคิลเหรอ มันคือการทำสวนปลูกพืชหรือเปล่า จนกระทั่งครูนกได้ชวนหนูคุยแล้วก็ไปสะดุดกับประโยคๆ หนึ่งที่ครูนกบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียงมันไม่ใช่การที่เราไปปลูกผัก หรือทำไร่นะ แต่มันคือหลักคิดที่เรานำไปใช้ในชีวิตประจำวันทุกวัน” น้องเพื่อนเล่าและเสริมว่า เมื่อเข้าใจแล้วก็ได้นำไปใช้ทั้งในชีวิตการเรียน และเรื่องของความรัก

“ตอนนี้หนูใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับทุกเรื่องเลยนะคะ ทั้งเรื่องการเรียน และเรื่องความรัก อย่างเรื่องความรัก พ่อแม่ก็ทราบว่าเราคบกันอยู่ เรื่องเวลาเราต้องแบ่งให้ถูก เพราะว่าเราจะไปรักเขาอย่างเดียวแล้วไม่เรียนก็ไม่ได้ อนาคตก็จะเสียหายทั้งคู่ พ่อแม่ของเราก็จะต่อว่าเขา ดังนั้น ถ้าจะคุยโทรศัพท์ก็ต้องทำการบ้านให้เสร็จ และก็ต้องตั้งเวลาไว้ว่าเท่านี้ถึงเท่านี้นะ ให้เหตุผลเขาว่าเพราะเธอต้องพักผ่อนแล้วตื่นเช้านั่งรถประจำไปโรงเรียน” น้องเพื่อนเล่าตัวอย่างการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นเครื่องมือการคิดวิเคราะห์ในการใช้ชีวิตประจำวันปิดท้าย

ปัจจุบัน โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ เป็น 1 ใน 47 ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นศูนย์ขยายผลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงแก่โรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ เป้าหมายเพื่อสร้างบุคลิกของเด็กไทยรุ่นใหม่ให้เป็นผู้มีอุปนิสัยพอเพียง รู้จักการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล มีความสุข ท่ามกลางสังคมไทยและสังคมโลก ที่นับวันจะยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้นในทุกขณะ

สอนเกษตรบนพื้นที่จำกัด ร.ร. บ้านหาดสองแคว อุตรดิตถ์

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05082150258&srcday=2015-02-15&search=no

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 27 ฉบับที่ 593

เยาวชนเกษตร

สุจิต เมืองสุข

สอนเกษตรบนพื้นที่จำกัด ร.ร. บ้านหาดสองแคว อุตรดิตถ์

สภาพพื้นที่ตั้งของโรงเรียนในชนบทปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก จากพื้นที่ส่วนใหญ่ของโรงเรียนเป็นพื้นที่สนามหญ้า กลับเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นปูน ทำให้พื้นที่สีเขียวลดน้อยลง เหลือเพียงแนวขอบรั้วและที่ตั้งของกระถางปลูกเท่านั้น โรงเรียนบ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็เช่นกัน เป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดกลาง มีการเรียนการสอนระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีบุคลากรทางการศึกษา 17 คน นักเรียนรวม 135 คน พื้นที่ทั้งหมดของโรงเรียนมีเพียง 7 ไร่เศษ สามารถจัดแบ่งพื้นที่สีเขียวไว้ได้ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะต้องพัฒนาสถานศึกษาให้รองรับการศึกษาที่ขยายโอกาสให้กับเด็กนักเรียน จึงเหลือเพียงแนวขอบรั้วและที่ตั้งของกระถางปลูกไว้บริเวณโรงเรียน

อาจารย์สมพร วัลลิยะเมธี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหาดสองแคว เล่าถึงสภาพพื้นที่ของโรงเรียนให้ฟังว่า สัดส่วนพื้นที่ใช้สอยของโรงเรียน แบ่งเป็น อาคารเรียนและอาคารประกอบ 30 เปอร์เซ็นต์ สถานที่ออกกำลังกายและใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรภายในโรงเรียน ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และในจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์นี้ มีแปลงผักสวนครัว ไม้ยืนต้น ไม้ผล โรงเรือนเพาะเห็ด และโรงเรือนเพาะจิ้งหรีด ซึ่งทั้งหมดนี้ผลผลิตเข้าโครงการอาหารกลางวันเป็นหลัก เพื่อช่วยภาระค่าใช้จ่ายค่าอาหารกลางวันของนักเรียนทุกระดับชั้น แม้ว่ารัฐบาลจะอุดหนุนงบประมาณมาเพียงระดับชั้นประถมศึกษาก็ตาม แต่โรงเรียนเห็นว่า สภาพความเป็นอยู่ของนักเรียนจำเป็นต้องได้รับการดูแลอาหารกลางวัน เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง

ในทุกชั้นเรียนมีวิชาเกษตรแทรกอยู่ในการเรียน 1 คาบ ต่อสัปดาห์ เมื่อจำนวนนักเรียนมีเพียง 135 คน และตั้งเป้าส่งเสริมภาคเกษตรให้เป็นพื้นฐานติดตัวนักเรียนเป็นหลัก จึงจัดนักเรียนทุกคนเข้าระบบยุวเกษตรทุกคน แต่การดูแลและการจัดการเป็นหน้าที่ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 40 คน

“ผมมีความสนใจส่วนตัวเรื่องของการทำการเกษตรอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อโรงเรียนจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ อาคารเรียน พื้นที่สีเขียวลดน้อยลง ก็ต้องหาวิธีที่ทำให้เกษตรอยู่ร่วมกับโรงเรียนต่อไปให้ได้ จึงใช้วิธีปลูกพืชตลอดแนวขอบรั้วที่ยังมีพื้นดินอยู่บางส่วน และปลูกพืชในกระถาง ตั้งวางให้ทั่วบริเวณโรงเรียน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวเท่าที่ทำได้ และยังให้ความสำคัญกับการเกษตรมาก เพราะผู้ปกครองของนักเรียนมีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม หากที่โรงเรียนสามารถดึงความสนใจเด็กให้รักเกษตรแล้ว การที่เด็กจะนำความรู้ไปต่อยอดที่บ้านก็จะเป็นเรื่องง่าย”

เมื่อโรงเรียนมีพื้นที่ไม่เพียงพอในการส่งเสริมงานด้านเกษตรกรรม อาจารย์ก็จะใช้วิธีสอนจากโรงเรียน ฝึกฝนจากโรงเรียน แล้วให้นักเรียนนำกลับไปปลูกที่บ้าน แล้วนำผลกลับมารายงานในวิชาเรียน

ปัญหาในภาคการศึกษาของเด็กในยุคนี้ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาการให้ความสนใจในการเกษตรน้อยลง อาจารย์สมพร กล่าวว่า การชี้ให้เด็กเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกไปไกล การเรียนหรือทำงานเพื่อเป้าหมายในอาชีพและมีรายได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ก็ไม่สามารถอยู่ได้ หากขาดการพึ่งตนเอง ซึ่งการทำการเกษตรภายในครอบครัว ก็เป็นการพึ่งตนเองอย่างหนึ่ง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่งด้วย

ไม้ผลรอบรั้ว ได้แก่ มะม่วง ขนุน มะปราง มะละกอ ตะขบ กล้วย หม่อน

สวนครัวรอบรั้ว ได้แก่ ผักปลัง ตำลึง มะรุม ยอ บวบหวาน ฟักข้าว มะนาว

สวนครัวในแปลง กะเพราแดง สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง คะน้า ข่า ตะไคร้ พริก

ไม้ดอกก็มีเพียง อัญชัน

อาจารย์อัญชลิกา ประกอบสุข อาจารย์ผู้ดูแลกลุ่มยุวเกษตร เล่าว่า ผลผลิตที่ได้มาทั้งหมด จะนำเข้าโรงครัวเพื่อประกอบอาหารก่อน เมื่อเหลือจากการประกอบอาหารแล้ว จึงนำออกจำหน่ายให้กับผู้สนใจ เริ่มจากอาจารย์ภายในโรงเรียน ผู้ปกครอง และตลาดชุมชน นอกจากนี้ ยังเก็บบางส่วนไว้แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าในการจำหน่าย เช่น เห็ด นำมาแปรรูปเป็นแหนมเห็ด อัญชัน นำมาแปรรูปเป็นน้ำอัญชันผสมมะนาว ฟักข้าว นำมาแปรรูปเป็น น้ำฟักข้าว เป็นต้น

แปลงผักสวนครัว มีทั้งสิ้น 20 แปลง แปลงขนาดไม่ใหญ่นัก เพราะพื้นที่จำกัดจึงต้องถมดินสูง ก่ออิฐบล็อกเป็นขอบแปลง ปลูกฟักข้าวไว้ขอบแปลง ทำค้างไว้รอฟักข้าวเจริญเติบโตเลื้อยแผ่กิ่งก้านด้านบน ขอบรั้วโรงเรียนเป็นกลุ่มไม้ผล ไม้ยืนต้น ต้นอัญชัน ผักสวนครัวบางชนิด เช่น มะรุม มะนาว ผักปลังและบวบหวาน ส่วนในกระถางที่ตั้งวางไว้ทั่วบริเวณโรงเรียน นอกเหนือจากผักสวนครัวแล้ว ยังปลูกไม้ผลไว้ในกระถางเพื่อให้ร่มเงาอีกด้วย

อาจารย์อัญชลิกา บอกว่า ผลผลิตที่เข้าโรงครัวช่วยลดค่าใช้จ่ายโครงการอาหารกลางวัน 10 เปอร์เซ็นต์ ไม้ผลส่วนหนึ่งใช้เป็นอาหารกลางวันให้เด็กๆ รับประทาน แต่ส่วนใหญ่นำไปขายตลาดชุมชน รายได้ทั้งหมดนำกลับมาเข้าสหกรณ์ และปันผลให้กับเด็กนักเรียนตามหน้าที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ การเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นักเรียนให้ความสนใจมาก หากคิดเรื่องต้นทุนและผลกำไรแล้ว ไม่ถือว่าเป็นกำไรที่ได้จากการเลี้ยงจิ้งหรีด เพราะไม่เห็นเม็ดเงินชัดเจน แต่สิ่งที่ได้จากการเลี้ยงจิ้งหรีดของเด็กนักเรียนคือ ความรู้

การเลี้ยงจิ้งหรีดเริ่มต้นจากเงินทุนเพียงเล็กน้อยของกลุ่มยุวเกษตร ซื้อพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาเลี้ยง เพาะพันธุ์จิ้งหรีดด้วยการเรียนรู้จากหนังสือ ซึ่งเด็กนักเรียนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบทั้งหมด และขายจิ้งหรีดให้กับผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลกำไรแล้ว ไม่ได้มากมาย

สำหรับการดูแลแปลงเกษตร อาจารย์ธีระพงษ์ วงศ์แสน อาจารย์ผู้ดูแลกลุ่มยุวเกษตร กล่าวว่า ใช้หลักการแบ่งชั้นเรียนตามงาน เช่น มัธยมศึกษาปีที่ 1 ดูแลแปลงผัก มัธยมศึกษาปีที่ 2 ดูแลโรงเห็ด มัธยมศึกษาปีที่ 3 ดูแลจิ้งหรีด เมื่อครบ 1 เดือน จะสลับเปลี่ยนงานให้แต่ละชั้นเรียนดูแล ส่วนการแบ่งการดูแลระหว่างเดือนที่รับผิดชอบทั้งชั้นนั้น เด็กๆ จะแบ่งเวรในแต่ละวัน เช่น โรงเห็ด จะต้องรดน้ำ เขี่ยเชื้อ เก็บเห็ด ส่วนแปลงเกษตร จับคู่รดน้ำ พรวนดิน กำจัดวัชพืช และเก็บผลผลิต ส่วนการเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นการให้น้ำ ให้อาหาร จับรวมผสมพันธุ์ และแยกตัวเมียออกเมื่อให้ลูก

“เด็กที่แบ่งเวรกันดูแลการเกษตรแต่ละกิจกรรม จะมีตารางเวรสำหรับลงชื่อการปฏิบัติไว้ และทุกวันอาจารย์จะต้องตรวจความเรียบร้อย หากพบว่าไม่เรียบร้อย จะเตือนให้นักเรียนทำซ้ำ หรือเพิ่มเติมส่วนที่ขาดตกบกพร่องไป ทั้งนี้ การปฏิบัติงานด้านเกษตรจะมีคะแนนเสริมให้ในวิชาเกษตร 10-20 คะแนน ต่อเทอม ซึ่งคะแนนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเป้าหมายของเด็ก เพราะเท่าที่วิเคราะห์ดูพบว่า เด็กได้ความคิดสร้างสรรค์และความรับผิดชอบมากขึ้นจากเดิม”

เด็กหญิงโรสรินทร์ หวานฉ่ำ หรือ น้องเกม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 15 ปี กล่าวว่า อยู่ในกลุ่มยุวเกษตรมา 2 ปี สิ่งที่สนใจมากที่สุดคือ การเลี้ยงจิ้งหรีดและการเพาะเห็ด เพราะที่บ้านเลี้ยงปลาดุกและปลาช่อนไว้ขาย ที่อยากทำในโรงเรียนคือ การเลี้ยงปลาและเลี้ยงกบ แต่ไม่มีกิจกรรมนี้ นอกจากนี้ สิ่งที่ได้รับจากการดูแลแปลงผักสวนครัว ทำให้น้องเกมปลูกมะนาวไว้ที่บ้าน และช่วยลดค่าใช้จ่ายเมื่อต้องซื้อมะนาวลงได้เยอะ โดยเฉพาะฤดูร้อนที่มะนาวราคาแพง

ส่วน เด็กหญิงจิรารัตน์ อุ่นแก้ว หรือ น้องตุ๊กตา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าว่า กิจกรรมการเกษตรที่รับผิดชอบในโรงเรียนคือ การปลูกผักสวนครัวและการเพาะเห็ด แต่สิ่งที่อยากทำคือ การเลี้ยงกบและการเลี้ยงไก่ไข่ เพราะผลผลิตจากการเลี้ยงไก่และกบเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน กิจกรรมภายในโรงเรียนที่ทำอยู่อย่างจิ้งหรีด ต้องมีความรอบคอบในการดูแล มีความละเอียดอ่อนในการทำงาน เช่น การย้ายพันธุ์ ขณะที่แม่พันธุ์ออกลูก ขั้นตอนการย้ายแม่พันธุ์ออกจากลูกจะยาก แต่หากรู้จักเรียนรู้และมีความชำนาญ เรื่องยากจะเป็นเรื่องง่ายในที่สุด

ด้าน น้องแครอท หรือ เด็กหญิงวิไลรัตน์ มาประสบ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าว่า กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือ การปลูกผัก โดยเฉพาะผักบุ้งจีน เพราะดูแลง่าย และเจริญเติบโตเร็ว ไม่นานก็สามารถเก็บขายหรือนำไปประกอบอาหารได้ ทุกวันตอนเช้าและเย็นจะรดน้ำที่แปลงผัก ไม่ควรรดน้ำในเวลากลางวัน เพราะแสงแดดแรง อากาศร้อน อาจทำให้ผักสวนครัวตายได้

ส่วน เด็กหญิงจันทนา ดอนมาไพร หรือ น้องซีเล็ก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกว่า กิจกรรมยุวเกษตรในโรงเรียนช่วยเพิ่มความรับผิดชอบและการเสียสละ แบ่งปันระหว่างเพื่อนๆ ได้ดี แต่สิ่งที่อยากให้มีเพิ่มคือ การปลูกดอกไม้ เพราะดอกไม้ก็สามารถเก็บผลผลิตไปขายได้เช่นกัน สำหรับการปลูกผัก น้องซีเล็กปลูกไว้ที่บ้าน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและปลอดภัยจากสารเคมี เนื่องจากการซื้อผักมารับประทาน เราไม่รู้ว่าผักจะปนเปื้อนสารเคมีมาบ้างหรือไม่ อย่างไรก็ตาม น้องซีเล็กคิดว่า การได้ผลผลิตจากการเกษตรที่ลงมือทำเอง เป็นสิ่งที่ภูมิใจมากที่สุด

อาจารย์สมพร กล่าวทิ้งท้ายว่า การปลูกฝังให้เด็กนักเรียนมองเห็นความสำคัญของการเกษตรในโรงเรียนและที่บ้าน เป็นความสำเร็จที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนในวิชาของอาจารย์ทุกท่าน และเชื่อว่าจะติดตัวนักเรียนไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ตลอดไป

ท่านใดสนใจแนวคิดการส่งเสริมการเกษตรให้กับนักเรียนของโรงเรียนบ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ติดต่อสอบถาม อาจารย์สมพร วัลลิยะเมธี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหาดสองแคว ได้ที่ โทร. (083) 325-4645

โรงเรียนวัดเชิงเลน นครปฐม สอนเกษตรกลางสวนพ่วงธรรมชาติ

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05094010258&srcday=2015-02-01&search=no

วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 27 ฉบับที่ 592

เยาวชนเกษตร

สุจิต เมืองสุข

โรงเรียนวัดเชิงเลน นครปฐม สอนเกษตรกลางสวนพ่วงธรรมชาติ

ไม่กี่ชั่วโมงสำหรับการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศ พุ่งตรงไปที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จังหวัดชายขอบของกรุงเทพฯ ที่แทบจะกลืนพื้นที่เข้ามาเป็นเมืองหลวงไปด้วยกัน เพราะความเจริญที่เข้าถึง

หลายคนอาจไม่รู้ ความเจริญที่เข้าถึงมากมายนั้น ทำลายระบบนิเวศ ความเป็นธรรมชาติที่จะเป็นต้นตอของแหล่งบ่มเพาะความรู้ในเชิงเกษตรของเยาวชนไปเกือบหมด แม้จะยังมีก็เรียกได้ว่าแค่หลงเหลือไว้บ้างเท่านั้น ไม่ถึงกับเป็นแหล่งความรู้ให้เยาวชนได้ศึกษาค้นคว้า ซึ่งท่ามกลางความเจริญเหล่านั้น โรงเรียนจึงเป็นที่พึ่งหนึ่งของเยาวชนได้เป็นอย่างดี

โรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฎร์) ตั้งอยู่ หมู่ที่ 10 บ้านศรีษะย่าน ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ทำเลที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน พื้นที่โรงเรียนได้รับการปันพื้นที่มาจากวัดเชิงเลน เพื่อให้เด็กได้มีที่เรียน แต่ยังคงเป็นโรงเรียนระดับชั้นก่อนเตรียมประถมศึกษา และประถมศึกษาปีที่ 1-6 เพราะตั้งอยู่ไม่ห่างจากโรงเรียนขยายโอกาสมากนัก อาจารย์วรางค์ เวชประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฎร์) เล่าว่า โรงเรียนมีพื้นที่ทั้งสิ้น 7 ไร่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2463 จัดว่าเป็นโรงเรียนเก่าแก่ สภาพเดิมเป็นสวนส้มโอ อยู่ติดแม่น้ำท่าจีน ทำให้น้ำท่วมจากน้ำซึมบ่อยครั้ง อีกทั้งมีพื้นที่ไม่มากนัก จึงแบ่งปันพื้นที่สำหรับการเกษตรได้ไม่มาก

แม้โรงเรียนจะมีพื้นที่ค่อนข้างน้อย แต่บุคลากรของโรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฎร์) ก็เห็นพ้องกันที่จะเหลือพื้นดินไว้มากพอสมควร เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้สำหรับเด็กได้ศึกษาและเรียนรู้การเกษตรจากธรรมชาติ

“ก่อนหน้านี้โรงเรียนมีพื้นที่สำหรับการเกษตรมาก แต่ปัจจุบันบริบทของโรงเรียนเปลี่ยนไป จำเป็นต้องมีห้องคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม แต่ก็ยังคงไว้ให้เป็นเกษตรตามธรรมชาติ ให้มีต้นไม้หลายประเภท เช่น ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น ไม้ผล ไม้สมุนไพร และแปลงผักสวนครัว”

โรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฎร์) เป็นโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นฐานทางการเกษตรให้กับเด็ก ทำให้มีจุดเด่นในเรื่องของการเรียนรู้นอกห้องเรียนตามธรรมชาติ และเด็กมีพื้นฐานการเรียนรู้ที่แตกต่างจากโรงเรียนแห่งอื่น

เพราะเหตุนี้ ทำให้ บริษัท สามพราน ริเวอร์ไซด์ จำกัด ซึ่งตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตร เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตมาเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ ให้มีความรู้ในเชิงเทคโนโลยีการผลิตพืชผักอินทรีย์ขั้นสูง และการจัดการบริหารแปลงผลิตด้วยตนเอง ซึ่งดำเนินการมากว่า 3 ปี ในรูปแบบของ “สามพรานโมเดล” มองเห็นการส่งเสริมเยาวชนให้รู้ลึกซึ้งเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ และการเก็บ-คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ส่งพนักงานและนักวิชาการเกษตรของโครงการให้ความรู้ในโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือก และโรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฎร์) เป็นอีกแห่งที่มีความพร้อม

อาจารย์ง่ายงาม ประจวบวัน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในฐานะที่ปรึกษาโครงการสามพรานโมเดล กล่าวว่า พนักงานที่ได้รับการอบรมของโครงการ จะเป็นผู้เข้ามาให้ความรู้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียน ส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ การทำน้ำหมักชีวภาพ และผลักดันให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยให้โรงเรียนคิดกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม นอกเหนือจากการปลูกผักในโรงเรียน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ มีการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียนที่ดี ซึ่งโรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฎร์) ได้คิดเรื่องของการพาเด็กนักเรียนออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยพาไปตามสวนต่างๆ ของชาวบ้านละแวกใกล้เคียง เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านของจริง และเรียนรู้เรื่องของการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการเกษตร

อาจารย์มนัส เอียงสมบูรณ์ ครูโรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฎร์) บอกว่า สิ่งที่มองเห็นจากรูปภาพในวิชาเรียน อาจไม่เหมือนของจริง เช่น เด็กนักเรียนเห็นภาพมะเขือในหนังสือ แต่ไม่รู้ว่าต้นมะเขือเป็นอย่างไร หรือขณะที่เราสอนให้เด็กทำน้ำชีวภาพใช้ในการเกษตร โดยใช้สะเดา เด็กจะไม่รู้ว่าต้นสะเดาเป็นอย่างไร หากไม่ได้เห็นของจริง ดังนั้น พื้นที่ทุกหย่อมหญ้าของโรงเรียนจะปลูกทุกอย่างเท่าที่ทำได้ โดยจะเน้นปลูกพืชหายาก และพืชหลากหลาย เพื่อเปิดกว้างต่อการเรียนรู้ของเด็ก

พื้นที่ทั้งหมด 7 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำแปลงเกษตร ประมาณ 2 งาน บริเวณริมน้ำมีศาลาท่าน้ำ ยังปลูกผักบุ้งลอยน้ำไว้ส่วนหนึ่ง เพราะผักบุ้งดูแลง่ายและประกอบอาหารได้หลายชนิด ส่วนแปลงผักมี 18 แปลง ปลูกผักตามฤดูกาล เพื่อหลีกเลี่ยงแมลงศัตรูพืช และให้ได้ผลผลิตที่ดี ส่วนหนึ่งของผักนำมาประกอบอาหาร เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ถั่ว ส่วนผักอื่นที่นอกเหนือจากที่ปลูกได้ มีผู้ปกครองใจดีแบ่งปันมาให้ในราคาย่อมเยา หรือไม่คิดมูลค่า เพราะผลจากการสอนให้บุตรหลานของเขาเหล่านั้น เข้าใจและรักในอาชีพเกษตรกรรม

เพราะพื้นที่อยู่ติดแม่น้ำท่าจีน ดินบริเวณที่ติดริมแม่น้ำจึงเป็นดินที่มีน้ำซึมขึ้นมาตลอดเวลา ทำให้ดูเหมือนน้ำท่วมขัง และหากในฤดูที่ปริมาณน้ำมาก น้ำจะซึมและเอ่อขึ้นมามากจนดูเหมือนเป็นพื้นที่น้ำท่วม จึงทำให้บริเวณพื้นที่ว่างปลูกพืชได้ไม่ทุกชนิด โดยอาจารย์มนัสและ คุณเชาว์ ภู่ทอง นักการภารโรง ที่ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ทั้งหมดของโรงเรียน เปรียบเสมือนครูเกษตรอีกคน จะเป็นคนคัดเลือกพืชมาปลูก โดยพิจารณาจากความทนทานของพืชที่มีต่อพื้นที่

ต้นไม้หลากหลายที่ปลูกบนพื้นที่น้ำซึม อาจารย์มนัส ไล่เรียงให้ฟังว่า โรงเรียนเน้นไปที่ไม้หายาก เรื่องการให้ผลผลิตไม่เน้นมากนัก เพราะเป้าหมายต้องการให้นักเรียนได้รู้จัก เช่น ต้นมะม่วง กล้วย ตะไคร้ โหระพา กระเจี๊ยบ ขี้เหล็ก มะพร้าว มะขาม ตาล สัก บัว ยางพารา มะฮอกกานี สาเก และต้นตะกู เป็นต้น

คุณเชาว์ เล่าว่า ความรักในการเกษตรโดยไม่ต้องปลูกฝังของเด็กนักเรียนที่นี่เห็นได้ชัด ต้นไม้ให้ร่มเงาขนาดใหญ่ผลัดใบลงพื้น เด็กนักเรียนต้องช่วยกันกวาดทุกเช้า เมื่อเขาอาสาตัดให้ เพื่อไม่ต้องมีใบหล่นลงพื้นให้เด็กต้องเก็บกวาดอีก กลับถูกขอร้องจากเด็กนักเรียนไม่ให้ตัดต้นไม้เหล่านั้น เหตุผลง่ายๆ ของเด็กคือ ต้นไม้ให้ร่มเงา ซึ่งเป็นความรักที่ไม่ต้องปลูกฝังอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนการเรียนรู้นอกห้องเรียนตามธรรมชาติ อาจารย์มนัส จะเป็นผู้จัดกิจกรรม โดยกำหนดจากความพร้อมของเจ้าของสวน นักเรียนทุกระดับชั้นจะเดินทางไปพร้อมกันในลักษณะพี่ดูแลน้อง โดยการขี่รถจักรยานและเดิน ซึ่งระยะทางของสวนและโรงเรียนไม่ไกลมากนัก

“ตัวอย่าง เช่น แปลงฝรั่งหลังโรงเรียน ห่างจากโรงเรียนไม่ไกล แต่ต้องไปด้วยรถจักรยานและเดินเท้าต่อ ในสวนจะปล่อยให้เด็กเรียนรู้ โดยให้เด็กมีปากกาและกระดาษไว้สำหรับจดบันทึกการเรียนรู้ด้วยตนเอง หากมีข้อสงสัยให้ถามเกษตรกรเจ้าของสวนได้ ซึ่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนลักษณะนี้ จะทำให้เด็กเข้าใจรูปแบบการทำเกษตรได้ง่ายและละเอียดมากกว่าการนั่งจดในห้องเรียน” อาจารย์มนัส กล่าว

สำหรับแปลงผักที่มีอยู่ 18 แปลงนั้น อาจารย์มนัส ไม่ได้แบ่งเวรในการดูแลต้นไม้ให้กับเด็กนักเรียน แต่เด็กนักเรียนรู้ด้วยตนเองว่า การดูแลแปลงผักคือหน้าที่ โดยไม่ต้องกำหนดลงในรายวิชา ซึ่งทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เด็กจะแข่งกันมาแต่เช้า เพื่อมารดน้ำให้กับแปลงผัก ตอนเย็นก่อนกลับบ้านก็จะเป็นอีกช่วงเวลาที่แข่งกันรดน้ำแปลงผักเช่นกัน

เด็กชายธิติ ผาสุข หรือ น้องบอม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า ส่วนตัวแล้วชอบการเกษตรมาก เพราะเป็นเรื่องง่าย ผลผลิตที่ได้มาก็นำมาใช้ประโยชน์ได้ เหลือก็นำไปขายเพิ่มรายได้ การเรียนรู้การเกษตรผ่านธรรมชาติด้วยการไปสวนเกษตรจริงนั้น ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเก็บและคัดแยกเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้มีเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเอง ไม่ต้องซื้อให้เป็นต้นทุนการผลิตในครั้งต่อไป

เด็กหญิงวราลัญช์ ชวรัตน์อนันต์ หรือ น้องแพร นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บอกว่า รักการปลูกผัก เพราะผักดูแลง่าย เช่น ผักบุ้งจีน ผักคะน้า ในการดูแลไม่ใช่เรื่องยาก หากพบวัชพืชให้ถอนทิ้ง หรือพบแมลงศัตรูพืชก็ใช้น้ำหมักชีวภาพฉีด ซึ่งหากมีพื้นฐานความรู้ด้านการเกษตรติดตัวไปแล้ว หากตกงานก็ไม่กังวล เพราะการทำเกษตรก็ถือเป็นอาชีพหนึ่ง

เด็กหญิงกาญจนา คร้ามสมบุญ หรือ น้องจ๋า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เล่าว่า ที่บ้านทำการเกษตรอยู่แล้วและช่วยผู้ปกครองดูแลผักที่ปลูกเป็นประจำ การปลูกผักสวนครัวเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดที่สามารถทำได้ รู้สึกสนุกและได้รับความรู้ทุกครั้งที่คุณครูพาออกไปเรียนรู้การเกษตรนอกห้องเรียน ทำให้จดจำได้ง่าย นอกจากนี้ ยังชอบกินผัก โดยเฉพาะแครอต เพราะเป็นผักที่มีวิตามินสูงและปลูกง่าย

ด้าน เด็กชายธีรภัทร แก้วสมบุญ หรือ น้องไนท์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กล่าวว่า พื้นฐานที่บ้านไม่ได้ทำการเกษตร แต่มีคุณปู่ขายต้นไม้ เมื่อมีเวลาว่างชอบไปช่วยคุณปู่ขายต้นไม้ ซึ่งการขายต้นไม้นอกจากจะต้องเรียนรู้การเจริญเติบโตของต้นไม้ การดูแลต้นไม้ และจดจำชื่อของต้นไม้ที่มีมากมายหลายชนิดแล้ว ยังทำให้มีความสุขเพลิดเพลินกับการได้รู้จักต้นไม้ชนิดต่างๆ อีกด้วย

โรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฎร์) ไม่ได้เป็นโรงเรียนที่มีพื้นที่มากมายนัก มีนักเรียนเพียง 154 คน มีอาจารย์ผู้สอนเพียง 10 คน แต่ก็สามารถจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมถึงภาคการเกษตร ที่เปิดกว้างให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนของเด็ก และเด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติของการเกษตรอย่างแท้จริง สนใจแนวการเรียน การสอนดีๆ เช่นนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์วรางค์ เวชประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฎร์) โทรศัพท์ (089) 704-5268

ดู เกษตรประหยัดพื้นที่ โรงเรียนบ้านวังแดง อุตรดิตถ์

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05086150158&srcday=2015-01-15&search=no

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 27 ฉบับที่ 591

เยาวชนเกษตร

สุจิต เมืองสุข

ดู เกษตรประหยัดพื้นที่ โรงเรียนบ้านวังแดง อุตรดิตถ์

จัดว่าเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีการเรียน การสอน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ตั้งอยู่ในละแวกชุมชนที่มีโรงเรียนขยายโอกาสเช่นเดียวกันอีกหลายแห่ง จึงไม่นับว่าอยู่ห่างไกลความเจริญมากนัก เพราะการเดินทางระหว่างชุมชน สถานที่ราชการ และโรงเรียน ยังสะดวกค่อนข้างมาก

โรงเรียนบ้านวังแดง (สหจิตวิทยาคาร) ตั้งอยู่ที่บ้านวังแดง หมู่ที่ 11 ตำบลวังแดง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ราว 13 ไร่เศษ ส่วนที่กว้างที่สุดของโรงเรียนเป็นสนามกีฬาที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่ของโรงเรียน อีกส่วนหนึ่งจัดเป็นอาคารเรียนชั้นเดียว และสองชั้น ด้านท้ายของโรงเรียนเป็นบ่อขุดขนาดใหญ่ พื้นที่รอบบ่อขุดยังไม่ได้ปรับปรุง ทำให้มีต้นไม้ขึ้นรกครึ้ม เป็นร่มเงาได้อย่างดี

อาจารย์เจม เม่นวังแดง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังแดง (สหจิตวิทยาคาร) กล่าวว่า โรงเรียนให้ความสำคัญกับการเกษตร โดยเปิดให้เด็กมีวิชาเลือกเป็นชุมนุมยุวเกษตรนอกเวลาเรียน นอกเหนือจากรายวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ซึ่งพ่วงการเรียนเกษตรเข้าไปด้วย ซึ่งวิชาเลือกมีหลากหลายสาขาอาชีพ เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีวิชาชีพติดตัวไป ไม่ว่าเด็กจะเรียนต่อสายสามัญ สายอาชีพ หรือไม่ได้ศึกษาต่อก็ตาม ทั้งนี้ กิจกรรมชุมนุมถือเป็น 1 วิชาเรียน ที่ให้คะแนนกับเด็กนักเรียนด้วย

“วิชาเลือก เราพิจารณาจากสภาพความเป็นจริง หากเด็กนักเรียนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วไม่ได้ศึกษาต่อ จะได้นำวิชาเลือกที่เรียนไปใช้ประโยชน์หรือประกอบอาชีพในชีวิตประจำวันได้ อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นพื้นฐานในแต่ละอาชีพได้”

ก่อนหน้านี้ โรงเรียนบ้านวังแดง (สหจิตวิทยาคาร) มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรมาก แต่ปัจจุบัน เมื่อเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เพิ่มพื้นที่การเรียน การสอน ในรูปของอาคารเรียนและอาคารกิจกรรม ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรที่เคยมีอยู่ลดน้อยลง จากเดิมมีแปลงผัก ไม้ผล กลับต้องถูกยุบลง ไม่เหลือแปลงผักให้ได้เห็น อาจารย์สมหมาย บุญมีสุข รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังแดง (สหจิตวิทยาคาร) และอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตร ผู้ดูแลกิจกรรมการเกษตรในโรงเรียนทั้งหมด เล่าให้ฟังว่า แปลงผักที่เคยมีบนพื้นที่ขนาดย่อมด้านหลังอาคารเรียนแรก ต้องถูกยุบลง เพราะต้องก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่ม ส่วนคอกหมูป่าที่เคยมี ก็ขยับจากที่ตั้งเดิมออกมาในขนาดเท่าเดิม เพื่อเลี้ยงหมูป่า 3 ตัว เท่าเดิม และขายลูกหมูป่าไว้เป็นทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในโครงการอาหารกลางวัน ส่วนพื้นที่ด้านท้ายของโรงเรียนเป็นบ่อดินขุดเดิมที่มีมานานแล้ว ปัจจุบัน นำพันธุ์ปลามาปล่อย และจับขึ้นมารับประทานเมื่อต้องการนำมาประกอบอาหารเป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน ส่วนผักที่เคยทำแปลงปลูกไว้ เมื่อไม่มีพื้นที่ปลูก จึงนำแนวคิดผักในกระถางมาใช้ โดยนำวัสดุเหลือใช้ เช่น ยางรถยนต์ กะละมัง มาใช้เป็นวัสดุรองปลูก แล้วนำไปตั้งวางยังพื้นที่ว่างต่างๆ ภายในโรงเรียน โดยเน้นไปที่ผักสวนครัวที่ใช้เป็นประจำ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาหารในโครงการอาหารกลางวัน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย

อาจารย์สมหมาย บอกด้วยว่า การดูแลผักสวนครัวปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักเรียน โดยไม่ต้องแบ่งเวรรายวัน เพราะเด็กนักเรียนทุกคนที่เข้าชุมนุมยุวเกษตร มีความสนใจในแปลงเกษตรอยู่แล้ว ดังนั้น ในทุกวันก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติและหลังเลิกเรียนก่อนกลับบ้าน เด็กจะชักชวนกันไปดูแลต้นไม้ รดน้ำ ให้ปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักจากมูลสัตว์ และถอนวัชพืช เป็นการดูแลที่แม้จะเล็กน้อย แต่ก็ช่วยให้ได้ผลผลิตที่ดี นอกจากนี้ ยังเป็นการดูแลต้นไม้จากใจของเด็กๆ เอง โดยไม่ต้องจัดเวร

เด็กชายวิทวัส เกดกั้น หรือ น้องปาล์ม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สมัครเป็นสมาชิกในชุมนุมยุวเกษตร ซึ่งสนใจการเลี้ยงปลา กล่าวว่า กิจกรรมการเกษตรหลักในโรงเรียนที่สนใจคือ การเลี้ยงปลา ซึ่งแม้จะเป็นบ่อดินและเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติ ต้องให้อาหารวันละครั้งก็ตาม แต่ก็ต้องให้ความใส่ใจ โดยต้องคอยดูเศษใบไม้และวัชพืชในน้ำไม่ให้มีมากเกินไป เพราะจะทำให้น้ำเสีย หากเห็นว่ามีมากก็ต้องลอกออกจากบ่อโดยเร็ว

ด้าน เด็กชายภาคิน วงศ์เอี่ยม หรือ น้องคิน อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บอกว่า สนใจการทำการเกษตรมานานแล้ว เพราะครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ และมีโอกาสช่วยครอบครัวในการดูแลแปลงเกษตร ซึ่งหากมีโอกาสจะเลี้ยงปลาเพื่อจำหน่าย และคิดว่าผู้ที่มีความรู้ในการเกษตรจะช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แม้ไม่มีอาชีพก็ตาม

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังแดง (สหจิตวิทยาคาร) ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า แม้พื้นที่โรงเรียนมีค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่สามารถทำแปลงผักหรือการเกษตรในรูปแบบอื่นได้เช่นโรงเรียนอื่น แต่ความรักและการให้ความสำคัญกับการเสริมความรู้ทางด้านการเกษตร ไม่น้อยไปกว่าโรงเรียนอื่นเช่นกัน