พลาสติกกู้โลก – E-update

http://www.dailynews.co.th/article/728/235929

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.

“หนูน้อยนักประดิษฐ์ พลาสติกกู้โลก” หนึ่งในการประกวดการประดิษฐ์และสร้างเสริมจิตนาการ ซึ่ง ฟันเนเรี่ยม (Funarium) สนามเด็กเล่นในร่มที่ใหญ่ที่สุดใจกลางกรุงเทพฯ ได้จัดขึ้นในงาน “รีไซเคิล วีค (Recycle Week)” กับ “โครงการศิลปะรีไซเคิล ครั้งที่ 3”

กิจกรรมนี้เป็นการประกวดงานประดิษฐ์และงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ระหว่างโรงเรียน ทั้งในระดับอนุบาลและระดับประถม ด้วยเล็งเห็นว่า การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้เป็นหน้าที่ของทุกคน รวมทั้งต้องการให้เด็กๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ชนะเลิศได้รับถ้วยประทาน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ พร้อมเงินรางวัล ผลงานของเด็กๆ ก็จะถูกนำไปจัดนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยามอีกด้วย

แม้การประกวดจะจบลงด้วยการมีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 , 2 และ 3 ในแต่ระประเภท และมีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับรางวัลในรูปของสิ่งของ หรือเงินรางวัล แต่เชื่อว่า เมล็ดพันธุ์แห่งการรู้สำนึก รักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม ได้ถูกจุดขึ้นภายในหัวใจและสมองน้อยๆ ของบรรดาเด็กที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความใส่ในในสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ใช่ระดับประเทศไทย แต่เป็นระดับโลก โดยเฉพาะบ้านเราที่ไม่ได้รับการปลูกฝังอบรมเรื่องการจัดการดูแลขยะมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งแตกต่างจากในหลายๆ ประเทศที่เพาะบ่มมาจนกลายเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องรับผิดชอบและทำในชีวิตประจำวัน

คุณเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟันแลนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด โต้โผการจัดงานครั้งนี้ บอกว่า อยากให้เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กมีกิจกรรมเรื่องการดูแลจัดการปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม อยากให้เด็กๆ ได้ซึมซับเรื่องเหล่านี้ ทำเป็นนิสัย สามารถใช้จินตนาการสร้างสรรค์ให้เป็นผลงานศิลปะ นำสิ่งของเหลือใช้ให้กลับมามีคุณค่า มีประโยชน์และนำกลับมาใช้งานได้ใหม่อีกครั้ง

แอพพลิเคชั่น“Wheel-go-round” เพิ่มคุณภาพชีวิตมนุษย์ล้อ – กลางกระแส

http://www.dailynews.co.th/article/728/236123

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.

กลุ่มผู้พิการในสังคมไทยถือว่าเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานในสังคม ตามหลักรัฐธรรมนูญแต่พบว่าหลายสถานที่ขาดการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้วีลแชร์ หรือสัญลักษณ์สำหรับผู้พิการทางสายตา ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นการผลักดันให้ภาครัฐผู้เสนอนโยบายรวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนหันมาใส่ใจสิ่งเล็กๆน้อย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัดจึงได้เปิดตัว Application “Wheel-go-round”และทีมwheel-go-round ทีมMicrosoft Student Partner (พัฒนาแอพพลิเคชั่น) ภายใต้ “โครงการเผยแพร่ข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้รถเข็น”

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ในปัจจุบันสังคมไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม การให้บริการ รวมทั้งการปรับด้านความเชื่อและทัศนคติ เรื่องความแตกต่างในกลุ่มประชากร สังคมทุกภาคส่วนเริ่มมีแนวคิดเรื่องการเปิดพื้นที่การให้บริการในด้านต่างๆ อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันในทุกกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุก็เช่นกัน ทุกคนต้องการความมีอิสระในการเดินทางและการใข้ชีวิตประจำวัน สสส ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องการมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเพื่อลดช่องว่างและเสริมสร้างความเป็นธรรมทางด้านสุขภาพและการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ เพื่อให้มนุษย์ทุกคนมีสิทธิและสามารถเข้าถึงสิทธิในการดำรงชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรมและเท่าเทียม เข้าใจในความแตกต่างของบุคคล อันจะนำไปสู่สังคมแห่งเท่าเทียม (Inclusive society) ของคนทุกกลุ่ม

“สสส.เล็งเห็นว่าโครงการนี้จะช่วยจุดประกายให้เกิดการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ต่างๆ ให้เหมาะสมกับผู้ใช้วีลแชร์ รวมถึงสร้างความตระหนักแก่สังคมให้เห็นถึงความสำคัญของ “การมีพื้นที่” ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยปราศจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรค” ทพ.กฤษดา กล่าว

นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ มีความยินดีที่ได้สนับสนุนและเห็นการพัฒนาที่ก้าวไปอีกขั้นของน้องๆ กลุ่ม Wheel-go-round โดยไมโครซอฟท์ ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ Wheel-go-round บนโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน เพื่อให้ผู้ใช้วีลแชร์สามารถทราบและเข้าถึงข้อมูลการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก โดยผ่านการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนอกจากผู้ใช้วีลแชร์แล้ว ข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถนำเสนอไปสู่ยังกลุ่มคนที่กว้างขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ทีม Microsoft Student Partners ยังได้อัพเดทเว็บไซต์ Wheel-Go- Round เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นสามารถทราบและเข้าถึงข้อมูลการใช้รถเข็นและสามารถเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ได้สะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น นับเป็นการรวมพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ มาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสังคมไทย”

“กลุ่ม Wheel-go-round เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้ร่วมโครงการ Innovate For Good ภายใต้ YouthSpark ซึ่งไมโครซอฟท์ร่วมกับสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สอ.ดย.) ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีเยาวชนกว่า 100 คน จากทั่วประเทศเข้าร่วมงาน ในการเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างความแตกต่างที่ดีขึ้นให้เกิดขึ้นกับชุมชนของตนเอง”นางสาวศิริพร กล่าว

ด้านนางสาวลิปดา จารุเธียร ตัวแทนเยาวชนกลุ่ม Wheel-go-round กล่าวถึงที่มาของแอพพลิเคชั่นนี้ว่า ตนมีญาติที่ใช้วีลแชร์ จะพบปัญหาเรื่องการเดินทางอยู่บ่อยครั้ง จนได้มีโอกาสร่วมกับเพื่อน คิดค้นและต่อยอดปัญหาดังกล่าว ซึ่งการออกไปเรียนรู้ ไปสำรวจปัญหาจริงๆ เราได้ไปคุยกับกลุ่มผู้ใช้วีลแชร์ที่อยู่ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระ กลุ่มนักกีฬาวีลแชร์ และกลุ่มผู้ใช้วีลแชร์ที่ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นประจำ ได้รับฟังและแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง พบว่าส่วนใหญ่เค้าก็มักจะไปแต่ที่เดิมๆ ที่เคยไปมาแล้ว หรือการจะไปที่ใหม่ๆ แต่ละครั้งก็มักจะสอบถามเพื่อนๆ มนุษย์ล้อกันเอง ยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะออกไปเจอกับสภาพที่ไม่แน่นอนของสถานที่

“ในส่วนของแอพพลิเคชั่น เราได้มีโอกาสมาเข้า workshop innovate4good ของไมโครซอฟท์ในช่วงแรกที่กำลังพัฒนา จุดอ่อนที่เห็นจากการทดลองจาก facebook (www.fb.com/wheelgoround)คือการหาและส่งต่อข้อมูลการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพ เจนได้มีโอกาสรู้จักกับทีม Microsoft Student Partners โดยน้องๆ กลุ่มนี้ได้ช่วยเปิดมุมมองของเราให้กว้างขึ้น ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยในแต่ละขั้นตอนที่น้องๆทำมา เราได้นำไปให้ผู้ใช้วีลแชร์จริงๆทดลองใช้ เพื่อนำ feedback จากผู้ใช้งานจริงมาบอกต่อให้น้องๆได้ปรับปรุงแก้ไข จนได้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้แอพพลิเคชั่นนี้”นางสาวลิปดา กล่าว

เยือน “เมืองงอย” ลาว ก่อน “ทุนนิยม -เขื่อน” แทนที่ วิถีพึ่งป่า

http://www.dailynews.co.th/article/728/236323

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.

ผ้าถุง ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ  หลากสีที่แขวนไว้บนผนังบ้าน สบแจม  หมู่บ้านริมแม่น้ำอูที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองงอย  แขวงหลวงพระบางของลาว   เมื่อครั้งโครงการพัฒนาทักษะการสื่อสารการทำข่าวสืบสวนสอบสวนประเด็นสุขภาวะในพื้นที่พรมแดน พร้อมสื่อมวลชนไทยและกลุ่มนักอนุรักษ์ลงพื้นที่ชุมชนริมน้ำอู ในฤดูฝน เป็นอีกบรรยากาศที่น่าชื่นชมของชาวบ้านสบแจม หมู่บ้านเล็กๆ ที่มีเพียง 55 หลังคาเรือน   หมู่บ้านสบแจมเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่บนพื้นที่สูง โอบล้อมด้วยหน้าผาเขียวขจี  ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรรม   และประมงเป็นหลัก แต่ทอผ้าเป็นอาชีพเสริม  ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเมืองงอย แขวงหลวงพระบางจะต้องแวะเลือกซื้อผ้าจากบ้านสบแจม เป็นส่วนมาก

“มาแต่ฝั่งไทยบ่เจ้า แวะกินน้ำก่อน แล้วค่อยเดินเที่ยวในบ้านนะเจ้า  มีผ้าหลายแบบให้ซื้อหา ” นวลจันทร์  แม่บ้านวัย 32 ปี กล่าวทักทาย พร้อมเสนอขายผ้าทอมือ “ผืนเล็กๆ ผ้าฝ้ายราคา 120 บาท เจ้า ผืนใหญ่ผ้าไหม 250 บาท  ฝรั่งจะมองหาผ้าคลุมผืนใหญ่ บางคนซื้อไปขายต่อ ก็ไม่รู้เหมือนกันเอาไปขายที่ไหน แต่คนบ้านสบแจมจะขายเฉพาะในหมู่บ้าน ไม่มีการเร่ขายที่อื่น ใครอยากได้ต้องมาซื้อเอง บางครั้งเจ้าของร้านค้าจากเมืองหลวงพระบางก็มารับไปขายต่อก็มี  เราก็ทอได้พออยู่พอใช้ เพราะคนลาวจะขาดผ้าขาวม้าไม่ได้ รายได้ไม่มากแต่เราก็ทำในเวลาว่าง พอจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และค่าน้ำมันเรือ”

นวลจันทร์  อธิบายว่า  หญิงลาวที่โตพอจะทำงานได้ต้องเรียนรู้ทักษะการทอผ้าตั้งแต่ยังเด็กประมาณ 10 ขวบ ต้องทำเป็นตั้งแต่ การปั่นฝ้าย  ย้อมสี และทอผ้าลายต่างๆ ส่วนมากเป็นลายหมากรุก ที่นิยมกันมาก เพราะชาวลาวต้องอาศัยผ้าพาดบ่า คาดเอว  เวลาทำบุญ และไปวัด เพื่อความสุภาพ โดยแม่บ้านจะทอไว้ให้คนในครอบครัวใช้อเนกประสงค์  ระยะหลังมีการท่องเที่ยวเข้ามา นักท่องเที่ยวขอซื้อผ้าจากแม่บ้านไปใช้ จึงเริ่มทอเพื่อการค้าขาย แต่บ้านสบแจมจะทอผ้าเน้นที่การใช้ผ้าไหมและผ้าฝ้ายแท้ สีที่ขายได้ดี คือ สีน้ำตาลเปลือกไม้สีเสียด และเปลือกพยอม จะมีความเข้มของสีที่ทนทานและไม่ซีดง่ายๆ   ชาวตะวันตกนิยมเป็นพิเศษ  โดยแม่บ้านที่ทอผ้าต้องเดินเท้าเข้าป่าที่อุดมสมบูรณ์ริมแม่น้ำอูประมาณ 5-10 กิโลเมตร เพื่อหาเปลือกไม้มาใช้ในการย้อมผ้า

แน่นอนว่าบ้านสบแจมจะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีสีสันของการทอผ้าด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน และเป็นที่ถูกใจของนักท่องเที่ยวและหลายคนอยากมาเยือนในฐานะเมืองสงบอันร่มรื่นริมแม่น้ำอู  และปรารถนามาเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กระนั้นหมู่บ้านอันสงบแห่งนี้ก็หนีกระแสทุนนิยมไม่ได้   ไม่ต่างจากชนบทอีกหลายแห่งทั้งในลาวและไทย  ที่นับวันต้อนกลุ่มชาวบ้านให้เข้าใกล้ระบบเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรมเกษตรมากขึ้น จนภาพวัฒนธรรมเริ่มจางลง มิหนำซ้ำโครงการสร้างเขื่อนและแหล่งผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำอูซึ่งมีมากถึง 7 แห่งที่ดำเนินการโดยบริษัทจากจีนก็เริ่มเข้าเข้าใกล้ชุมชนอันสงบแห่งนี้ทุกที

น้อยอายุ 62 ปีเล่าระหว่างถักสวิงช้อนปลา ว่า  การทอผ้าของเด็กรุ่นใหม่แทบไม่มีแล้ว ยังเหลือแค่รุ่นที่แต่งงาน มีครอบครัวเท่านั้น น่าจะเป็นรุ่นสุดท้าย เพราะชาวลาวเริ่มหันไปลงทุนปลูกข้าวโพด ปลูกผักให้บริษัทขนาดใหญ่ เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว บางคนก็ออกไปรับจ้างในเมืองใหญ่ คนทอผ้ามีอยู่น้อย แต่คนในบ้านสบแจมยังคงทออยู่จำนวนมากเพราะยังมีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาเลือกซื้อ

“แก่แล้ว สายตาเริ่มแย่  ทอผ้าไม่ค่อยสวย ก็มาถักสวิง เอาไปใช้หาปลาในแม่น้ำอู ปลาเยอะแยะ หามาต้ม มาปิ้งกิน แต่ถ้าวันไหนลูกชายกลับมาจากทำนาเร็วก็มีปลาติดมือเข้าบ้าน ไม่ต้องไปหาให้เหนื่อย ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี่ว่างไม่ได้ เข้าป่าไปหาฟืน หาหน่อไม้ ล่าสัตว์กันประจำ ทุกวันนี้ปล่อยหนุ่มสาว มีแรงทำงานไป เราแก่แล้ว นั่งอยู่บ้านช่วยสอนทอผ้า สอนถักสวิงจะดีกว่า ”  น้อยเล่าวิถีชีวิตของคนบ้านสบแจม

ถึงแม้จะมีวันที่ชราลงทุกที   แต่สุขภาพของป้าน้อยยังดูแข็งแรงมาก  เธอแบกข้าวสาร แบกฟืน และขึ้นลงเรืออย่างคล่องแคล่ว เคล็ดลับง่ายๆ ก็แค่กินอาหารตามธรรมชาติ ไม่ทานผักเปื้อนสารเคมี ใช้ชีวิตอย่างสรรมถะที่สุด ซึ่งป้าน้อยยืนยันว่า คนแก่ในบ้านสบแจมมีสุขภาพแข็งแรงกันทุกคน  ไม่มีใครเจ็บไข้จนต้องหามส่งโรงพยาบาลในเมืองให้ยุ่งยาก เพราะสมุนไพรในป่ารอบๆ ยังมีให้ใช้และทุกคนก็ยังดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายแทบไม่ต้องพึ่งแพทย์แผนปัจจุบันเลยแม้แต่รายเดียว

“ฉันป่วยไม่ได้นะ เดินทางไปหนองเขียวทีใช้เวลา 1 ชั่วโมงโดยเรือ ไปหาหมอเก่งๆ ในหลวงพระบางทีก็เดินทางทั้งวัน กว่าจะถึงตายพอดี ก็แค่รักษาตัวเองไม่ให้ป่วยก็พอ อาหารป่าถ้าไม่มีพิษก็กินไป ทั้งกุ้งหอย ปู ปลา ผักป่า มีเยอะให้เลือกกิน เลือกเก็บ  อยู่บ้านสบแจมนะสบาย ”

ดูเหมือนคนบ้านสบแจม จะยังมีความสุขกับวิถีคนพึ่งป่าอย่างมาก แม้หลายคนจะรู้ว่าเขื่อนแม่น้ำอูจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้และทุกๆปีมีเจ้าหน้าที่มาสำรวจพื้นที่ ริมน้ำอูเพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าก็ตาม แต่ก็ไร้สิทธิในการต่อต้าน

คำผุย อดีตผู้ใหญ่บ้านสบแจม เล่าว่า คนลาวรู้ดีว่า  ช้าหรือเร็วเขื่อนจะเกิดขึ้น  แต่ไม่มีใครรู้ว่า ต้องทำอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงที่มี  และเตรียมตัวรับมืออย่างไร   ถึงงแม้ทุกคนดูไม่เดือดร้อนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  แต่ทุปี เวลามีกิจกรรมบวชป่า ชาวบ้านสบแจมก็เข้าร่วมกับคนเมืองงอยทุกครั้ง เพื่อทำบุญให้เจ้าป่าเจ้าเขาคุ้มครองผืนป่าให้เป็นสมบัติของคนริมน้ำอูตลอดไป

“เรารู้ว่า เขื่อนมา อาจจะต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือของชาวบ้าน อาจต้องอ้อมสักหน่อย เช่น เดิมเดินทางจากบ้านสบแจจมไปเมืองงอยประมาณ 20 -30 นาที ก็อาจต้องอ้อมไปไกล เสียเวลามากขึ้น ปัญหาคือ ค่าน้ำมันต้องเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีกินมีใช้ แต่ในอนาคตหากเราไม่มีเงินก็อยู่ยาก คนสบแจมจึงเริ่มหาหนทางทำมาหากินเพิ่มขึ้น ส่วนมากปลูกข้าวโพดส่งบริษัทเอกชน โดยเขาลงทุนเมล็ดพันธุ์ให้ปลูกในไร่ของชาวบ้านเอง แล้วรับซื้อกิโลกรัมละ 4 บาท หากเอาเมล็ดพันธุ์มา 10 กิโลกรัมต้องคืนบริษัทประมาณ 200 กิโลกรัม ซึ่งต้องปลูกข้าวโพดส่งทุกปี”

ยังไม่มีใครกล้าการันตีได้ว่า เมื่อเขื่อนมา ทุนนิยมเข้ามาคนริมน้ำอูจะเผชิญปัญหาอะไรบ้าง แต่จากการประเมินผลกระทบขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ ประเมินแล้วว่า หากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำอู พันธุ์ปลาจำนวนมากที่เคยอาศัยอยู่ในน้ำอูจะหายไป และมีหมู่บ้านที่อยู่ริมน้ำได้รับผลกระทบถึง 89 หมู่บ้าน ซึ่งชะตากรรมของหมู่บ้านสบแจมเองก็เป็นที่น่ากังวลไม่น้อย ประกอบกับการคุกคามของทุนนิยมเชิงอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยแล้ว ชีวิตอันเพียบพร้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนของบ้านสบแจม  อีกทั้งวัฒนธรรมทอผ้าพื้นบ้านเข้าขั้นวิกฤติ เสี่ยงต่อการอวสานไม่ต่างจากชาติพันธุ์อื่น ในไทยและลาวที่เจอปัญหาไม่ต่างกัน

ผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรชีวภาพ – ลดโลกร้อน

http://www.dailynews.co.th/article/728/236324

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.

การวัดความเติบโตของเมืองที่เกิดจากการสร้างสิ่งก่อสร้างทั้งหลายเป็นปัจจัยหนี่งที่เร่งให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น ขณะเดียวไม่มีการกำหนดขอบเขตในการใช้จึงเป็นตัวเร่งอีกด้าน
นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวของชุมชนและเมือง รวมถึงความจำเป็นในการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทย เป็นปัจจัยให้เกิดการบริโภคทรัพยากรจำนวนมาก ส่งผลให้ต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพลดลงจนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมและเรียนรู้จากธรรมชาติจนเกิดเป็นภูมิปัญญา

แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการมาในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องให้เดินหน้า ทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ควบคุมการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งต้องสร้างคุณค่าที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ผศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO) กล่าวว่า สำนักได้จัดทำตราสัญลักษณ์ ไบโอ อีโคโนมี (Bio-Economy) หรือ ตราส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรชีวภาพ ขึ้น โดยมอบให้แก่ผู้ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ 1. การใช้ทรัพยากรชีวภาพในชุมชนเป็นวัตถุดิบ 2. กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3. มีการนำรายได้ไปอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากตราสัญลักษณ์ ไบโอ อีโคโนมี นั้นคือ โอกาสทางการตลาดในการประชาสัมพันธ์สินค้า การนำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายที่ร้านฟ้าใสแกลอรี่ และได้สิทธิ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ที่ เบโด้ จัดขึ้น

รวมถึงได้มีการพูดคุยกับพันธมิตรซึ่งจะมีการร่วมมือกันเพื่อผลักดันและสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าและบริการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ให้มีโอกาสในประสบความสำเร็จมากขึ้น อาทิ สถาบันการเงิน ผู้จัดจำหน่ายสินค้า องค์กรภาครัฐและเอกชนขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีชุมชนและผู้ประกอบการได้รับตราสัญลักษณ์ ไบโอ อีโคโนมี แล้ว กว่า 10 ผลิตภัณฑ์ และ กำลังอยู่ในการพิจารณาอีกกว่า 100 ผลิตภัณฑ์   สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับตราผลิตภัณฑ์ ไบโอ อีโคโนมี สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0-2141-7814

“คลองน้ำไหล”’ ต้นแบบตำบลน่าอยู่ยั่งยืน – กลางกระแส

http://www.dailynews.co.th/article/728/234476

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.

ชุมชนท้องถิ่นคือฐานของประเทศ ซึ่งประเทศจะมั่นคงได้ ก็ต่อเมื่อมีรากฐานแข็งแรง ดังนั้นการสร้างเสริมสังคมเข้มแข็งจึงเป็นกุญแจความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ

สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดยเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในพื้นที่ ตำบลคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

สมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ มียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงาน โดยใช้ทุนและศักยภาพในแต่ละพื้นที่ ผ่านการส่งเสริมหน่วยงานท้องถิ่น กลุ่มองค์กรในชุมชน รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ได้ทำงานร่วมกันอย่างมีศักยภาพ

“ในเรื่องของพลังงานทดแทนสำหรับคนไทยยังมองว่า คงมีความเพียงพอหากช่วยกันประหยัด แต่แท้จริงนั้นสิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการช่วยกันประหยัดคือ การสร้างพลังงานทดแทน ซึ่งการบริหารจัดการด้านพลังงานของตำบลคลองน้ำไหลถือว่าเป็นต้นแบบองค์ความรู้ที่ดีให้แก่ชุมชนต่างๆ นำไปปรับใช้” ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 กล่าว

การทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืนนั้น ต้องมีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ช่วยท้องถิ่นปรับวิธีคิดใหม่ พัฒนาในสิ่งที่ขาดหายไป  จัดการองค์ความรู้ สร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยการขยายผลจากตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการเรียนรู้ในลักษณะวิธีคิดของแต่ละแห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนาและสร้างชุมชนท้องถิ่นให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

จิรวัฒน์ พรมจีน ประธานอาสาสมัครพลังงานชุมชน ตำบลคลองน้ำไหล กล่าวว่า กลุ่มพลังงานทดแทน เกิดจากสภาวะค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นของคนในตำบล โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สหุงต้ม  จึงได้มีการรวมตัวคิดค้นและหาพลังงานทดแทนมาใช้ โดยตนได้เข้าร่วมอบรมการผลิตเตาย่างไร้ควัน เตาเศรษฐกิจ เตาแก๊สชีวมวล และนำความรู้จากการอบรมมาลงมือปฏิบัติต่อยอดกระจายความรู้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชน และถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กเยาวชนเพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกในการลดใช้พลังงานและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน

“การทำระบบก๊าซชีวภาพก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการอนุรักษ์พลังงาน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเกษตร นอกจากนี้ ยังให้ผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ อีกมากมาย ช่วยลดปัญหากลิ่นเหม็นจากมูลสัตว์ ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนละ 2,800 บาทต่อปี”

ในส่วนของเตาเผาถ่าน 200 ลิตร สามารถใช้ไม้ที่มีขนาดเล็กที่เกิดจากการตัดแต่งกิ่งไม้ได้ ช่วยลดการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ ใช้เชื้อเพลิงในการเผาถ่านน้อย อุปกรณ์ประกอบเตา หาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องก่อสร้างทั่วไป ตัวเตาดูแลรักษาง่าย อายุการใช้งานนาน ใช้เวลาในการเผาถ่านสั้น สามารถใช้แรงงานคนเดียวในการเผา ควบคุมอากาศในการเผาไหม้ได้ตามต้องการเกิดเป็นขี้เถ้าน้อย แต่ได้ถ่านมีคุณภาพสูงดี และดีต่อสุขภาพ ซึ่งนอกเหนือจากการได้ถ่านแล้ว ยังได้ “น้ำส้มควันไม้” ซึ่งมีคุณสมบัติในการไล่แมลง เหมาะกับการใช้งานในครัวเรือนอีกด้วย

รูปธรรมที่ชัดเจนจากการผลักดันโครงการด้านพลังงานต่าง ๆ นั้นคือบุคคลในชุมชนเห็นความสำคัญของพลังงานและร่วมลงมือปฏิบัตินำไปใช้ในครัวเรือน ทำให้เกิดการขยายผลจนปัจจุบันตำบลคลองน้ำไหลเป็นที่สนใจของพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศมาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปขยายสู่ชุมชนเหล่านั้นต่อไป

ทั้งหมดเป็นตัวอย่างของการพัฒนาท้องถิ่น ด้วยการจัดการกับเงื่อนไขการดำเนินชีวิตของประชาชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนตำบลสู่การเป็น “ตำบลน่าอยู่” แหล่งเรียนรู้ของชุมชนในอนาคตได้ต่อไป

วันปลอดรถ ลดโลกร้อน “คาร์ ฟรี เดย์ – ชีวิตกับธรรมชาติ

http://www.dailynews.co.th/article/728/234486

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.

ทุกวันที่ 22 กันยายนของทุกปี กำหนดให้เป็นวันปลอดรถ ลดโลกร้อน “คาร์ ฟรี เดย์ “ (Car free Day2013) จะเห็นผู้คนทั่วโลกหยุดการใช้รถยนต์ส่วนตัวหันมาใช้บริการรถสาธารณะ ปั่นจักรยานและ เดิน หวังร่วมแรงร่วมใจกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดสู่ชั้นบรรยากาศ

สำหรับ Car Free Day 2013 ในบ้านเราในปีนี้มีหลายหน่วยงานออกมาจัดกิจกรรมรณรงค์ กทม.ได้ขายเข็มกลัดมูลค่า 50 บาท (จำหน่ายที่สำนักงานเขต 50 เขต BMA Express Service บนสถานีรถไฟฟ้า สถานีปันปั่น ธ.กรุงไทยบางสาขา ร้านจักรยานชั้นนำ รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.bangkok.go.th) สามารถเดินทางด้วยเข็มกลัดนี้ในวันที่22 ก.ย.2556 ระหว่างเวลา 06.00-24.00 น.ได้กับบริการรถโดยสารสาธารณะทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ รถเมล์ขสมก. รถรางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เรือด่วนเจ้าพระยา (ธงส้ม) นอกจากนี้บริการสาธารณะอย่างรถไฟฟ้ายังอนุญาตให้พาจักรยานขึ้นฟรี และพิเศษรถไฟฟ้าบีทีเอสอนุญาตให้จักรยานทุกประเภทขึ้นได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นจักรยานแบบพับได้

ด้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรมโครงการรณรงค์การใช้จักรยาน เพื่อประหยัด

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส. ในฐานะหนึ่งในองค์กรด้านสุขภาพ มีพันธกิจคือการร่วมสร้างสุขภาวะให้กับคนไทย และหน้าที่สำคัญคือการผลักดันให้เกิดการตื่นตัว และเริ่มดำเนินการในเรื่อง “การลดการใช้พลังงาน” ทั้งในระดับองค์กรและในระดับสาธารณะ และ “การปั่นจักรยาน” ก็เป็นหนึ่งกิจกรรมทางกาย ที่ช่วยลดการใช้พลังงานและยังสร้างเสริมสุขภาพผู้ใช้จักรยาน และจากการทำงานร่วมกับ “สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย” พบว่า เราสามารถสร้างกลุ่มผู้ใช้จักรยานรักสุขภาพได้ทั่วประเทศ โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นจาก 31 จังหวัดในปี 2550 เป็น 76 จังหวัด ในปี 2554 และในปี 2556 นี้ ก็สามารถขยายเครือข่าย “กลุ่มผู้ใช้จักรยานรักสุขภาพ” ได้ทั้ง 77 จังหวัด หรือประมาณ 1 แสนคนทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอย่างมาก

“สสส. ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน รวมถึง ส่งเสริมให้เกิดการปรับสภาพแวดล้อมและเมืองที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน หรือเมืองที่เป็นมิตรต่อจักรยาน ดังนั้น ในครั้งนี้ สสส. และสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย จึงได้ตั้งเป้าจะใช้จักรยานยกระดับสุขภาพเมือง โดยการลด 6 ปัญหาที่เกิดจากรถยนต์

ได้แก่ 1.ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย 2.ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม(ภาวะโลกร้อน) 3.ปัญหาด้านมลพิษทางเสียงและอากาศ 4.ปัญหาด้านพลังงาน 5.ปัญหาด้านการจารจร และ 6.ปัญหาด้านอุบัติเหตุ โดยทั้ง 6 ประเด็นถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไขทั้งสิ้น ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องตระหนักถึงผลพวงจากทั้ง 6 ปัญหา หันมา “ปั่นจักรยาน” ช่วยโลกใบนี้ให้อยู่กับเราตลอดไป” ทพ.กฤษดา กล่าว

ด้าน นายมงคล วิจะระณะ อุปนายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย กล่าวว่า สถานการณ์การใช้จักรยานของคนไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มการใช้จักรยานมากขึ้น สังเกตได้จากการรณรงค์ Car free day ครั้งแรกในปี 2543 ครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200-300 คน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปี 2555 เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ร่วมกิจกรรม 16,000-17,000 คน

“กิจกรรมในปีนี้ คาดว่าจะมีนักปั่นรักสุขภาพเข้าร่วมงานมากถึง 20,000 คน รวมทั้ง ปีนี้เราขยายกิจกรรมครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะมีภาพรวมนักปั่นเข้าร่วมกิจกรรม Car free day ไม่ต่ำกว่า 100,000 คน โดยรูปแบบกิจกรรมจะรวมตัวเพื่อรณรงค์ที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อนำเสนอประเด็นการปรับสภาพแวดล้อมและเมืองที่เอื้อต่อการใช้จักรยานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย”อุปนายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย บอกถึงเป้าหมายของทำกิจกรรมวันปลอดรถ ลดโลกร้อน

สำหรับวันนี้เราอาจจะเห็นกทม.และถนนสายสำคัญทั่วประเทศปลอดรถแต่ถนนหนทางเต็มไปด้วยจักรยานภาพนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ต้องขอความร่วมมือจากทุกๆคน

ทำไม!ต้องค้านเขื่อนแม่วงก์

http://www.dailynews.co.th/article/728/234675

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.

จากกรณีที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น13,280 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง 8 ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ 2562 เกิดกระแสการคัดค้านอย่างกว้างขวางในวงการอนุรักษ์และกลุ่มประชาชน โดยเฉพาะผลการศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพ หรือ EHIA ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผน (สผ.) สิ่งแวดล้อม และไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แม้จะส่งมาแล้ว 4 ครั้งในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่ผ่าน แต่รัฐบาลปัจจุบันใช้วิธีแต่งตั้งคนของตนเองไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพิจารณาผ่าน EHIA ตามที่รัฐบาลต้องการ

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร พร้อมเครือข่ายนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้เดินรณรงค์คัดค้านสรุปผลรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้ร่วมกันเดินทางจากเขื่อนแม่วงก์ถึงกรุงเทพฯระยะทาง 388 กม. คัดค้าน EHIA ฉบับนี้ โดยจะสิ้นสุดการเดินทางในวันที่ 22 กันยายนนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ

ศศิน กล่าวว่า เหตุผลสำคัญในการเดินประท้วงครั้งนี้ไม่ได้ตั้งใจคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์โดยตรง แต่ต้องการแสดงความตั้งใจจริงในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สาธารณชนมีความเข้าใจในผลกระทบของการสร้างเขื่อนที่มีต่อผืนป่า ซึ่งแม้จะมีการระบุให้ปลูกต้นไม้ทดแทน 3 เท่า แต่กลับไม่ระบุพื้นที่ดำเนินการ และต้องการประท้วงสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ที่เป็นผู้รับผิดชอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลแก่ฝ่ายการเมือง ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความคุ้มค่าในการสร้างเขื่อนแม่วงก์

จากข้อมูลของเว็บไซต์มูลนิธิสืบ รายงานถึงผลกระทบต่อการสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่า ด้านนิเวศ จะทำลายป่าต้นน้ำ อาจเกิดการลักลอบตัดไม้ริมอ่างจนยากแก่การควบคุม เร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า เช่น นกยูง เสือโคร่ง ส่งผลกระทบต่อป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้ง เพราะป่าแม่วงก์เชื่อมต่อกับผืนป่า ตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 17 ผืนต่อเนื่องกันเป็นผืนป่าใหญ่ถึง 11.7 ล้านไร่ เป็นผืนป่าใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดใหญ่พอที่จะเป็นบ้านของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เสือโคร่ง ช้าง กระทิงวัวแดง สมเสร็จ ควายป่า ฯลฯ แม้จะต้องเสียผืนป่าเพียง 18 ตร.กม. ก็ตามแต่ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้อยู่น้อยมากจึงไม่สามารถที่จะเสียผืนป่าได้อีก

นอกจากนี้ การสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็ถือว่าไม่คุ้มค่า เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 300,000 ไร่ แต่การสร้างเขื่อนฯ จะสามารถแจกจ่ายน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้เพียง 100,000 ไร่เท่านั้น

รายงานฉบับนี้ระบุชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำมากถึง 70-80% ที่ไหลลงมายังที่ราบอำเภอลาดยาว ดังนั้นถึงสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็ไม่สามารถบรรเทาอุทกภัยได้มากนักในพื้นที่โครงการ โดยไม่ต้องสงสัยว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์จะมีผลต่อการบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามงบประมาณสร้างเขื่อนตามโมดูล A1 ที่มากับโครงการเงินกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลได้เพียงไม่ถึง 1% ของน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554

สำหรับทางออกของการยุติการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นมีข้อเสนอให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างผสมผสาน อาทิ ควรมีการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กให้กระจัดกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ และควรสร้างแก้มลิงเพื่อป้องกันน้ำท่วม เพราะจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนรายปีพบว่ามีการกระจายทั่วไปในพื้นที่ลุ่มน้ำ ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดในการสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม และต้องทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำโดยเฉพาะถนน

อย่างไรก็ตามควรส่งเสริมให้มีการทำเกษตรอย่างยั่งยืน หากยังขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชอย่างไม่เหมาะสมกับสภาพดินและน้ำดังเช่นที่ผ่านมา เช่น การปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และการปลูกข้าวนาปรังบ่อยครั้งหรือถี่เกินไปใน 1 ปี เชื่อได้ว่าแม้จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ขึ้นปริมาณน้ำก็ไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ความเป็นมาของเขื่อนแม่วงก์ เริ่มจากพ.ศ.2525 กรมชลประทานริเริ่มโครงการเขื่อนแม่วงก์-พ.ศ.2537 มติที่ประชุม คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนา(คชก.)มีความเห็นให้กรมชลประทานศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมบริเวณเขาชนกัน เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าเขาสบกก พ.ศ. 2540 กรมชลประทานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมตามมติ คชก. 23 มกราคม 2541 มติที่ประชุม คชก. ครั้งที่1/2541 “ไม่เห็นชอบกับการดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์”- พ.ศ.2543 มีการทำประชาพิจารณ์โครงการเขื่อนแม่วงก์  พ.ศ.2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติครั้งที่ 3 ยังไม่เห็นชอบต่อรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้กรมชลประทานหาทางเลือกของที่ตั้งโครงการ และศึกษาเพิ่มเติมการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ 10 เมษายน 2555 มีมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์.

ขยายโครงการหลังคาเขียว – ลดโลกร้อน

http://www.dailynews.co.th/article/728/232873

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.

จากเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ อาทิ เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากในเขตภาคเหนือ ดินโคลนถล่มในเขตภาคใต้ ตลอดจนเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างสามปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ประชาชนนับพันครัวเรือนต้องไร้ที่อยู่อาศัย

โครงการหลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก โดยความร่วมมือของมูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ด้วยการส่งมอบแผ่นหลังคาเขียวที่ได้จากการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วที่คนไทยด้วยกันช่วยบริจาคผ่านโครงการฯไปยังพื้นที่ประสบภัยและชุมชนที่ต้องการช่วยเหลือทั่วประเทศ

ศาสตราจารย์ พิชิต สุวรรณประกร รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กล่าวว่า ณ ปัจจุบัน มูลนิธิฯ สามารถเข้าฟื้นฟูที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนได้แล้วกว่า 17 จังหวัด และจะยังคงทยอยส่งมอบความช่วยเหลือในรูปของแผ่นหลังคาให้กับผู้ที่ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป แต่เนื่องจากเหตุการณ์ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมาทำให้ปริมาณกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วที่ได้จากการบริจาคไม่เพียงพอต่อการผลิตแผ่นหลังคา ดังนั้นเพื่อการผลิตแผ่นหลังคาให้เพียงพอต่อความต้องการเราจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะขยายระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ต่ออีกสามปี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 – มิถุนายน 2559

น.ส.ฐาปนี จันทร์หอม ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สามปีที่ผ่านมา โครงการฯได้รับการตอบรับจากคนไทยเป็นอย่างดี โดยเห็นได้จากจำนวนกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วที่โครงการฯ รวบรวมได้ตั้งแต่เปิดตัวโครงการฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 จนถึงเดือนเมษายน 2556 มียอดการรวบรวมกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วเพื่อมาผลิตเป็นแผ่นหลังคาได้จำนวนกว่า 55 ล้านกล่อง สามารถนำมารีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคาได้ประมาณ 27,750 แผ่น อย่างไรก็ดี จากความต้องการแผ่นหลังคาเขียวที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โครงการฯ จึงได้จัดส่งแผ่นหลังคาเขียวให้กับมูลนิธิฯ รวมทั้งสิ้นเกือบ 40,000 แผ่น และแม้ว่าปริมาณกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วที่โครงการฯ ได้รับจะมีจำนวนมากกว่าที่ได้ตั้งเป้าไว้ แต่ด้วยจำนวนความต้องการแผ่นหลังคาที่มีเพิ่มมากขึ้น เราจึงได้ขยายเวลาในการดำเนินโครงการฯ อีก 3 ปี เพื่อให้การผลิตแผ่นหลังคาเพียงพอต่อความต้องการ โดยในปีนี้ เราเริ่มด้วยแนวคิด “ทำดีแบบ D.I.Y.” แค่นำกล่องเครื่องดื่มมาพับ เก็บรวบรวม และส่งให้กับโครงการฯ เพื่อนำมารีไซเคิลผลิตเป็น “แผ่นหลังคา”เพียงเท่านี้ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบความช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยทั่วประเทศได้

ผู้สนใจร่วมบริจาคกล่องนมติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์www.greenroof.in.th และบริจาคกล่องเครื่องดดื่มใช้แล้วที่ห้างบิ๊กซีทุกสาขาทั่วประเทศ

“สวนผักคนเมือง”นวัตกรรมทางสังคมลดเสี่ยงอาหารไม่ปลอดภัย

http://www.dailynews.co.th/article/728/232874

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.

ชุมชนอ่อนนุช 14ไร่ในเขตประเวศ เกิดขึ้นจากจากกลุ่มคนที่เคยอาศัยใต้ทางด่วน ใต้สะพาน อยู่ในชุมชนแออัด เป็นคนเร่ร่อน มีอาชีพเก็บขยะขาย กลุ่มคนจนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ การต่อสู้เพื่อให้อยู่รอดในสังคมเมืองใหญ่มีสภาวะกดดันต่างๆนานา นับตั้งแต่การดิ้นรนมาเพื่อให้ได้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ขณะเดียวต้องต่อสู่กับปัญหาค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกวัน แต่วันนี้ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับค่าครองชีพที่แพงขึ้นด้วยระบบร้าน 0 บาท

พีรธร เสนีย์วงศ์ ผู้ริเริ่มร้าน 0 บาทในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เล่าว่าชาวบ้านในชุมชนขับซาเล้งหาของเก่าขายมีรายได้แบบหาเช้ากินค่ำ จึงริเริ่มแนวคิดว่าเอาขยะมาแลกอาหารแห้งประเภทข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช ผงซักฟอก ยาสระผม และอื่นๆ เป็นต้น เริ่มมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งครั้งแรกมีสมาชิกเพียง 4 คน ซึ่งในแต่ละวันชาวชุมชนจะออกไปหาขยะนอกชุมชน แต่ขยะงวดสุดท้ายจะมาสู่ชุมชน เพราะนั่นหมายถึงอาหารในแต่ละมื้อ ยกตัวอย่างเช่นขวดน้ำดื่มในราคารับซื้อร้านข้างนอกชุมชนก.ก.ละ 15 บาทแต่ร้าน 0 บาทให้ราคา 12 บาทเมื่อสมาชิกนำขยะมาแลกจะตีมูลค่าออกมาเป็นเงินแล้วคิดเป็นราคาสินค้าอีกทีไข่ไก่ฟองละ 3 บาท อาจใช้ขยะขวดน้ำดื่มมากกว่าครึ่งก.ก. โดยไม่มีระบบจ่ายเป็นเงิน นอกจากนี้สมาชิกร้าน 0 บาทยังมีระบบเงินปันผลตอนสิ้นปีด้วย ขยะที่ได้ร้าน 0 บาทจะนำไปขายอีกทีเพื่อนำเงินไปซื้อสินค้าเข้าร้าน และจัดสรรเป็นเงินปันผล

การดำเนินงานของร้าน 0 บาทขณะนี้มีสมาชิก 80 คนจากจำนวนหลังคาเรือนที่อยู่อาศัยทั้งหมด 149 หลัง แต่ละคนมาใช้บริการร้าน 0 บาทโดยการเห็นดีเห็นงานในรูปแบบ โดยไม่มีการเชิญชวน และในปีที่ผ่านมาร้าน0 บาทได้ต่อยอดผลประโยชน์ด้วยการก่อสร้างสวนผักคนเมืองขึ้นมา

พีรธร ขยายความว่าชุมชนมีที่ดินขนาดเล็กแค่ 92 ตารางวา โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ จากกทม.และเขียนโครงการเสนอของบประมาณมาจากสสส.มาปรับพื้นที่ เพราะสภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นดินแดง ขุดบ่อน้ำเพื่อนำน้ำมารดผัก ปลูกผัก เช่นคะน้า กวางตุ้งผักบุ้ง นอกจากนี้ยังเน้นปลูกผักที่ให้ผลผลิตตลอดปีเช่น กะเพรา โหราพา มะนาว ใบยอ มะละกอ ดอกแค ขี้เหล็ก ผักปลัง ภายในสวนผักยังมีการเลี้ยงเป็ดเทศ บ่อปลา และหมู โดยนำมูลสัตว์มาเป็นปุ๋ย แต่ใช้วิธีปล่อยลงในบ่อน้ำแล้วใช้น้ำรดผักเพื่อประหยัดเวลา และลดใช้แรงงานในการมาหมักปุ๋ยหมัก

สำหรับการดูแลสมาชิกจะหมุนเวียนมารดน้ำพรวนดิน โดยมีผู้นัดหมายรวมตัวกัน สำหรับกฏกติกาการเก็บผักไปกินนั้น สมาชิกใช้ขยะมาแลก เช่นต้องการคะน้าสำหรับทำอาหารหนึ่งจานในครอบครัวให้เก็บไปเพียงพอที่จะกิน

“โดยพื้นฐานชาวชุมชนเคยอยู่ในชนบทคุ้นเคยกับการปลูกผักกินเองอยู่แล้ว บางครั้งกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัดจะนำเมล็ดพันธุ์กลับมาปลูกที่สวนผักนี้ด้วย”

ภายหลังจากมีสวนผักคนเมืองความเปลี่ยนแปลงที่ชัด พีรธร บอกว่าคนในชุมชนรักสามัคคีกัน จากเดิมมักมีปัญหาทะเลาเบาะแว้งกันและรถพุ่มพวงเข้ามาน้อยลงเพราะชาวบ้านมีผักกินเองจากพื้นที่เล็กๆตรงนี้

ความสำเร็จของสวนผักคนเมืองของชุมชน 14 ไร่ในปัจจุบันทำให้ที่นี่เป็นสถานที่ดูงานและแหล่งเรียนรู้จากนักวิชาการและนศ.จากสถาบันการศึกษาต่างๆเช่นเดียว โครงการนำร่องอาหารปลอดภัยของรร.วัดลาดบัวขาวเขตสะพานสูง รร.ในสังกัดกทม. นำพื้นที่ของวัดที่เคยเป็นสถานที่ทิ้งเศษอิฐหินปูน มาปรับปรุงเป็นสวนผักปลูกคะน้า ผักบุ้ง มะละกอ มะรุม สวนสมุนไพร โดยทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง ส่วนผักนั้นนำมาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารกลางวัน และยังเหลือขายให้กับผู้ปกครองกลายเป็นความภาคภูมิใจของตัวเด็กด้วย

กัลยา หลำเพชร หัวหน้าโครงการนำร่องอาหารปลอดภัยฯโรงเรียนวัดลาดบัวขาวสำนักงานเขตสะพานสูง กล่าวว่า นอกจากเด็กจะได้กินอาหารปลอดภัยแล้วเด็กโรงเรียนวัดบัวขาวรับประทานผักได้ โดยเฉพาะเด็กในวัยอนุบาลที่จะปฏิเสธการกินผัก โดยเด็กๆจะได้ลงแปลงผักทำความรู้จักผักแต่ละชนิดและได้ทดลองกินผักสดๆจากแปลงได้ทันทีเพราะเป็นผักที่ไม่ใช้สารเคมี ขณะเดียวกิจกรรมในโรงเรียนได้มีกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคผัก เช่น การประกวดทำสลัดผัก แข่งขันตำส้มตำลีลา เป็นต้น

เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า ว่า สสส. ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และภาคีเครือข่าย จัดทำ โครงการสวนผักคนเมือง เพื่อให้โครงการดังกล่าวเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนกินผัก อาหารปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพที่ดี โดยดำเนินการมา 2 ปีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ปริมณฑล ชุมชนเมืองในจังหวัดภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก รวม 96 พื้นที่ มีศูนย์อบรม 7 แห่ง ซึ่งมีผู้สนใจเข้าอบรมกว่า 1,000 คน และนำไปขยายผลทำเกษตรในเมืองกว่า 3,000 คน นอกจากนี้ยังทำโครงการโครงการนำร่องอาหารปลอดภัย ในโรงเรียน ดำเนินการตั้งแต่ต้นปีนี้ ครอบคลุม 32 โรงเรียน ใน 6 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 2.เชียงราย 3.นครสวรรค์/ อุทัยธานี 4.นครราชสีมา 5.ฉะเชิงเทรา/นครนายก และ 6.กทม. 7 แห่ง

สวนผักคนเมืองเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากตอบโจทย์ราคาค่าครองชีพ ปัจจุบันการปลูกผักแล้วได้ผลผลิตโดยไม่พึ่งพาสารเคมีมีตัวช่วยมากมายทั้งดินสำเร็จรูปที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ น้ำหมักชีวภาพที่มีหาซื้อได้ไม่ยากตอลดจนวิธีการทำปุ๋ยหมักใช้เองมีข้อมูลอยู่แล้วในอินเทอร์เน็ต….ทำให้เรื่องปลูกผักคนเมืองวันนี้เป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว.

แพนด้าน้อยในสวนสัตว์แอตแลนตา – E-update

http://www.dailynews.co.th/article/728/233051

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.

มีรายงานข่าวแจ้งว่า สวนสัตว์แอตแลน ตา (Zoo Atlanta) สหรัฐอเมริกา ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่เป็นแพนด้าเพศผู้ 2 ตัว ซึ่งกำเนิดจากแม่แพนด้ายักษ์ “หลุนหลุน” แต่แพนด้าน้อยทั้งสอง ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ เนื่องจากตามธรรมเนียมจีนจะต้องรอให้แพนด้ามีอายุครบ 100 วันก่อน เจ้าหน้าที่สวนสัตว์จึงเรียกทั้งคู่ว่า เอ และ บี ไปก่อนที่แพนด้าน้อยทั้งสองจะมีชื่ออย่างเป็นทางการ และทั้งคู่มีสุขภาพแข็งแรงดี แต่ยังไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปชื่นชมความน่ารักของพวกมัน

แม่แพนด้ายักษ์ หลุนหลุน เกิดเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2540 ที่ศูนย์การวิจัยและเพาะพันธุ์แพนด้าในเฉิงตู มณฑลเสฉวน  และมาอยู่ที่สวนสัตว์แอตแลนตา พร้อมกับแพนด้าเพศผู้อีกหนึ่งตัว ชื่อ หยังหยัง เมื่อปี พ.ศ. 2542

แพนด้าถูกจัดให้อยู่ในบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และมีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ปัจจุบันในประเทศจีนมีแพนด้าหลงเหลืออยู่เพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ ในแถบเนินเขาทางใต้ของเทือกเขาฉินในมณฑลส่านซี เทือกเขาหมินซัน ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างมณฑลเสฉวนและมณฑลกันซู่ เทือกเขาฉงไหล เทือกเขาเหลียงซัน และเทือกเขาเซี่ยงหลิ่ง หุบเขาลึกแถบที่ราบทางตะวันตกเฉียงเหนือ ในมณฑลซื่อชวน

และจากการสำรวจพบว่า ขณะนี้มีแพนด้าหลงเหลืออยู่ไม่ถึง 1,000 ตัว และมากกว่า 80% ของแพนด้าในธรรมชาติ อาศัยอยู่ในมณฑลเสฉวน ทั้งนี้ในเมืองเฉิงตูมี 5 อำเภอที่เป็นที่เพาะเลี้ยงแพนด้าได้แก่ อำเภอ ฉงไหล ต้าอี้ เผิงโจว ฉงโจว ตูเจียงเยี่ยน

และเนื่องจากการกระจายตัวกันอยู่เป็น กลุ่มเล็ก ๆ ของแพนด้า ทำให้แพนด้าไม่อาจหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์กันภายในกลุ่ม ส่งผลให้สายพันธุ์ของแพนด้าสูญเสียความหลากหลาย จนกระทั่งนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ที่อ่อนแอกว่า นอกจากนี้ชนิดของอาหารของแพนด้ามีเพียงใบไผ่ ทำให้แพนด้าจำนวนหนึ่งหิวโหยจากการขาดอาหาร จนกระทั่งล้มตาย สถานการณ์ความเป็นอยู่ของแพนด้าในวันนี้จึงอยู่ในขั้นวิกฤติ จนเกิดกระแสเรียกร้องให้ช่วยกันอนุรักษ์ขึ้นทั่วโลก.