นานาทรรศนะ นิสิตกัมพูชา ได้ทุนเรียนมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05054011055&srcday=2012-10-01&search=no

วันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 25 ฉบับที่ 536

เยาวชน-เทคโนโลยี เยาวชนเกษตร 

ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา

นานาทรรศนะ นิสิตกัมพูชา ได้ทุนเรียนมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว

สืบเนื่องจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล เมื่อ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษาของวิทยาลัยดังกล่าว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนแก่นักเรียนเพื่อให้มาศึกษาต่อในประเทศไทย เพื่อนำความรู้กลับไปสอนและพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัย

ทั้งนี้ โครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชาด้านการศึกษา ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนและบุคลากรวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2548

โดย ปี 2554 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว ได้มีส่วนร่วมในโครงการด้วยการรับนักเรียนทุนจากโครงการดังกล่าวเข้าศึกษาในคณะต่างๆ จำนวน 30 คน แบ่งเป็น คณะเทคโนโลยีการเกษตร 14 คน คณะสาธารณสุขศาสตร์ 3 คน คณะศึกษาศาสตร์ 10 คน และคณะวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ 3 คน

อาจารย์เสรี ชิโนดม รองอธิการบดี วิทยาเขตสระแก้ว ให้ข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว สามารถรองรับนิสิตจากกัมพูชาได้อีกมาก เพราะที่วิทยาเขตเปิดสอนหลายสาขาที่ชาวกัมพูชาให้ความสนใจ และในอนาคตคาดว่า จะมีนิสิตชาวกัมพูชาเพิ่มขึ้นแน่นอน

รองอธิการบดียังเผยต่ออีกว่า มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพระตะบอง ของกัมพูชาที่จะมีการแลกเปลี่ยนนิสิตกันและกัน เพื่อมาศึกษาเทคโนโลยี วิทยาการ และวัฒนธรรมของกันและกัน

“ในอนาคต มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว จะเปิดหลักสูตรเพิ่มอีกหลายสาขา ซึ่งจะสามารถรองรับนิสิตไทยและกัมพูชาได้เป็นจำนวนมาก เป็นสถาบันการศึกษาอีกแห่งหนึ่งที่จะรองรับการเปิด AEC ได้เป็นอย่างดี” รองอธิการบดีกล่าว

อาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า นักศึกษาที่เข้ามาเรียนชุดนี้มีจำนวนทั้งหมด 13 คน แล้วยังมีด้านคอมพิวเตอร์อีก 3 คน และปริญญาตรีอีก 2 คน ซึ่งในกลุ่มนี้มีบุคคลที่เป็นอาจารย์ที่สอนทางด้านเกษตรจากวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล จังหวัดกำปงธม กัมพูชา ซึ่งได้รับทุนเข้ามาศึกษาทางด้านเทคโนโลยีการผลิตพืช และทางด้านเทคโนโลยีการผลิตสัตว์เป็นทุนแบบเร่งรัด โดยตลอดหลักสูตรจะใช้ระยะเวลา 3 ปี จำนวน 3 เทอม เทอมละ 3 เดือน มีทั้งสาขาพืช สัตว์ และประมง

อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร บอกต่อว่า การคัดเลือกจะต้องมีการพิจารณาบุคคลที่มีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนด จากนั้นทางมหาวิทยาลัยบูรพาจะต้องดำเนินการเทียบรายวิชาที่เรียนและวุฒิเพื่อให้เหมาะสม

“อาจารย์จากวิทยาลัยกำปงเฌอเตียลทุกท่านที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยบูรพาแห่งนี้ มีพื้นฐานความรู้ในสาขาที่มาเรียนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการปฏิบัติ เพียงแต่มาต่อยอดทางด้านทฤษฎีภาควิชาการเท่านั้น ตอนแรกอาจต้องมีการปรับตัวด้านภาษาและความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเรียน แต่ภายหลังที่สอบผ่านไปแล้ว 1 เทอม ถือว่าทุกคนสามารถปรับตัวได้อย่างน่าพอใจ” อาจารย์ธนากร กล่าว

อย่างไรก็ตาม นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์และนักศึกษาจากกัมพูชาชุดนี้บางท่านที่ว่างเว้นจากการเรียน ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนมุมมองกับการได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาในสถาบันแห่งนี้ กับประโยชน์ที่จะนำไปใช้เมื่อศึกษาจบ

คุณแขม บัว (Mr. Khem Bour) อาจารย์ชาวกัมพูชา บ้านอยู่ตำบลนอน อำเภอสันดัน จังหวัดกำปงธม แต่มาทำงานที่อำเภอปราสาทซำโบ ที่วิทยาลัยกัมปงเฌอเตียล มีตำแหน่งเป็นอาจารย์ เรียนจบทางด้าน ปวส. แล้วไปต่อเป็นครูเกษตร สอนนักเรียนในระดับ ปวช. เป็นวิชาทางด้านพฤกษศาสตร์

คุณแขม เล่าว่า ลักษณะการสอนโดยส่วนมากจะเน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎีและวิชาการ หากเทียบสัดส่วนจะเป็นการปฏิบัติ 70 เปอร์เซ็นต์ และทฤษฎีวิชาการ 30 เปอร์เซ็นต์

เขาเผยว่า อาชีพหลักที่บ้านทำนาและปลูกมันสำปะหลังเล็กน้อย การได้มีโอกาสเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว ถือเป็นความโชคดีอย่างมาก สิ่งที่สนใจมากและตั้งใจจะเติมเต็มคือการศึกษาทางด้านงานวิจัย ทั้งนี้ ภายหลังจากเรียนไปแล้ว 1 เทอม เขาพบว่า การเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยบูรพามีความเจริญก้าวหน้ามากทั้งทางภาคทฤษฎีและปฏิบัติ แล้วตัวเองสามารถเรียนรู้และศึกษาตามความตั้งใจได้จริง และยังบอกอีกว่าหลังจากที่สำเร็จจะนำความรู้ที่เป็นประโยชน์ อันมีคุณค่าเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษากัมพูชาต่อไป

ไม่ต่างจาก คุณกิมเอียง จาย (Miss Kimeang Chay) อายุ 26 ปี เป็นครูสอนที่วิทยาลัยกัมปงเฌอเตียลเช่นกัน และสอนทางด้านปศุสัตว์ เธอเล่าว่าปศุสัตว์ที่กัมพูชามีเหมือนประเทศไทย คือ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย แต่เป็นการเลี้ยงภายในครัวเรือนเท่านั้น ไม่มีทำในลักษณะฟาร์ม

เธอยังบอกต่ออีกว่า เกษตรกรที่กัมพูชาส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความเข้าใจกระบวนการทางด้านปศุสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ ส่วนภาคธุรกิจของไทยที่ไปลงทุนที่กัมพูชาเกี่ยวกับเกษตรกรรม ได้แก่ ซีพี และเบทาโกร ซึ่งมีชาวกัมพูชาไปรับจ้างเฉพาะด้านการดูแลสัตว์เท่านั้น

คุณกิมเอียง ยังบอกอีกว่า การได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว ถือเป็นการเปิดกว้างในโลกความรู้ที่ต้องการศึกษา ทำให้ได้รับทราบถึงวิทยาการความก้าวหน้าในสิ่งใหม่ๆ อีกหลายอย่าง พร้อมกับบอกว่าบางวิชายากมากเช่น จุลชีวะ

นอกจากนั้น เธอยังได้อธิบายถึงการเลื่อนวิทยฐานะของการเป็นแม่พิมพ์ที่กัมพูชาว่า หากต้องการความก้าวหน้าจะต้องเข้าไปสอบแข่งขันเพื่อขยับระดับตำแหน่งที่มีอยู่เดิมให้สูงขึ้นไป แต่ถ้าไม่สอบก็คงมีตำแหน่งอยู่อย่างเดิม โดยจะมีการปรับเงินเดือนให้แก่ครูทุก 2 ปี เป็นจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์

ทางด้าน คุณสุคนธี รัตน์ (Miss Sukunthea Roth) เป็นครูสอนทางด้านปศุสัตว์เช่นกัน เธอบอกว่า เทคนิคการผสมเทียมถือว่ามีความสำคัญและที่เมืองไทยมีความเจริญก้าวหน้าด้านนี้มาก แต่ที่กัมพูชายังถือว่าน้อยอยู่ โดยเฉพาะวัว

เธอบอกว่า ตลาดความรู้ด้านปศุสัตว์ในเมืองไทยกว้างขวางมาก มีการส่งเสริม อบรม และพัฒนาให้แก่เกษตรกรทุกแห่งอย่างมีคุณภาพ แตกต่างจากที่กัมพูชา เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เลี้ยงสัตว์กันตามธรรมชาติ นอกจากนั้น เธอยังตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้จะมีบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยไปลงทุนทางด้านปศุสัตว์ที่กัมพูชาก็ตาม แต่ชาวกัมพูชาจะทำงานได้เฉพาะบางตำแหน่งเท่านั้น และที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นคนเหล่านั้นนำความรู้อะไรจากงานที่ทำมาใช้ประกอบอาชีพส่วนตัวเลย

คุณสุคนธี บอกว่า “ภูมินกสิกรรม” ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวกับการเกษตรในระดับมหาวิทยาลัยของกัมพูชาและตั้งอยู่ที่กรุงพนมเปญ มีการสอนถึงระดับปริญญาโท รวมไปถึงยังมีการสอนอีกหลายแห่งในระดับ ปวส. ถึงปริญญาตรี ซึ่งรวมแล้วประมาณ 7 แห่ง

การมาเรียนที่มหาวิทยาลัยบูรพา เธอตั้งใจจะเรียนทางด้านอาหารสัตว์ และมีความคิดว่า ในอนาคตหากมีโอกาสจะนำความรู้ไปประกอบอาชีพส่วนตัว

ส่วนการให้ความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ คุณสุคนธี กล่าวว่า ได้รับความช่วยเหลือทางด้านชลประทาน มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ชาวนาสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง และสำหรับทางด้านปศุสัตว์ยังได้รับการส่งเสริมน้อยอยู่

สำหรับ AEC ที่จะมาถึงอีกไม่นานนี้ เธอบอกว่าน่าจะเกิดประโยชน์กับคนหลายประเทศที่จะเดินทางหาความรู้ และคิดว่าคนกัมพูชาจะเดินทางเข้ามาศึกษาหาความรู้จากประเทศไทยกันมากขึ้น

อีกท่านคือ คุณวันไณ เอา (Mr. Vannai Or) เป็นครูสอนทางด้านพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง และมะม่วงหิมพานต์ เขาบอกว่าผลผลิตจากมันสำปะหลังที่ได้นำไปขายในราคากิโลกรัมละ 7 บาท มีรูปร่างขนาดใหญ่ หัวละประมาณ 15 กิโลกรัม โดยได้ต้นพันธุ์มาจากไทยบ้าง จากเวียดนามบ้าง

สำหรับพืชสวนส่วนมากจะปลูกไว้บริโภคภายในครัวเรือน นอกจากนั้น ยังมีการปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว และยางพารา ในพื้นที่อื่นอีกหลายแห่ง

คุณวันไณ บอกว่า ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านพืชเกษตรกรรมมาก วิชาที่สนใจเป็นพิเศษคือ งานวิจัยพันธุ์ที่ทนทานต่อโรค และตั้งใจว่าภายหลังจากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพาแล้ว จะนำความรู้ไปพัฒนาปรับปรุงวิชาที่สอนให้ดีขึ้น

และสุดท้าย เป็นนิสิตคือ คุณโสะเพียณา ชูก (Mr. Sopheana Chhouk-Bc) เป็นนิสิตที่มาจากมหาวิทยาลัยในกัมพูชา และเรียนได้เพียง 1 เทอม จึงสอบชิงทุนมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยบูรพา ในหลักสูตรปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

เขาเล่าถึงความเจริญก้าวหน้าทางด้าน ไอที ของกัมพูชาว่า มีความเจริญเป็นกลุ่มในภาคธุรกิจหรือในกลุ่มของคนที่มีฐานะ ดังนั้น ความหนาแน่นทางด้านความทันสมัยของเทคโนโลยีจึงรวมตัวอยู่ที่เมืองหลวง ส่วนตามต่างจังหวัดยังมีน้อยอยู่

คุณโสะเพียณา บอกว่า เนื้อหาวิชาที่กำลังเรียนที่มหาวิทยาลัยบูรพา จะเน้นและให้ความสำคัญกับโปรแกรมที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ ซึ่งสามารถใช้งานได้ทันทีเมื่อเรียนจบ ส่วนอนาคตคาดว่าจะไปสมัครงานเป็นโปรแกรมเมอร์หรือเว็บไซต์ดีเวลล็อปเปอร์

ใส่ความเห็น