สมุนไพรยอดนิยม…รางจืด กระชายดำ อัคคีทวาร และว่านหอมแดง

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05076010654&srcday=2011-06-01&search=no.

วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 23 ฉบับที่ 504

สมุนไพรใกล้บ้าน

สมุนไพรยอดนิยม…รางจืด กระชายดำ อัคคีทวาร และว่านหอมแดง มีแจกฟรี ในงานมติชน เฮลท์แคร์ 2011 ณ เพลนนารีฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

รางจืด ราชาแห่งยาแก้พิษ

รางจืด ตำนานเล่าขาน ยาวนานในสังคมไทย มีในนิยายเพชรพระอุมา รางจืดมีชื่อเสียงหนักหนาในการเป็นยาแก้พิษ ทั้งพิษยาเบื่อ ยาสั่ง ยาฆ่าแมลง พืชพิษ เห็ดพิษ รวมไปถึงพิษสุราและยาเสพติด ไม่เว้นแม้แต่พิษงู แมลงป่องหรือตะขาบ จากเรื่องเล่าของหมอยาพื้นบ้าน จากตำนานที่เลือนลาง สู่ความเป็นจริง

ในโลกของมลพิษทั้งอากาศที่ปนเปื้อนด้วยสารปรอท รวมไปถึงสารพิษนานาชนิดที่เรานำเข้าสู่ร่างกายเองทุกๆ วัน ทั้งในรูปของอาหารที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงและสารเคมีเจือสี เติมรส แต่งกลิ่น กันบูด ฯลฯ รวมทั้งการสัมผัสและการสูดดม ซึ่งกลไกการขับถ่ายของเสียและสารพิษออกจากร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็น ไต ตับ ต่างทำงานหนักมากขึ้นทุกๆ วัน (ถ้าอวัยวะเหล่านี้ร้องบอกเราได้ คงบอกแล้วว่า ทำงานไม่ไหวแล้วจริงๆ) ดังนั้น ในร่างกายของคนในยุคนี้จึงมีสารพิษตกค้างสะสมรอวันตายแบบผ่อนส่งกันถ้วนหน้า

จากประสบการณ์ของชาวบ้านไทย (เน้น‚ว่าเป็นของชาวบ้านไทย เพราะไม่มีข้อมูลการใช้รางจืดในประเทศอื่น) เริ่มจากอาจารย์หมอที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ญ. พาณี เตชะเสน เห็นแมวรอดชีวิตจากยาเบื่อด้วยรางจืด จึงได้มาทำการวิจัยรางจืดในการแก้พิษยาฆ่าแมลง ในปี 2523 จากนั้น จนถึงปัจจุบันก็มีรายงานศึกษาวิจัยฤทธิ์ของรางจืด ในการแก้พิษต่างๆ ทั้งพิษจากยาฆ่าแมลง สารหนู สตริกนิน ตะกั่ว เหล้า รวมไปถึงการบำบัดการติดยาเสพติดในกลุ่มยาบ้าและโคเคน‚

รางจืด ยังช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีความหวังน้อยนิดในการรอดชีวิตจาก‚พิษ ในการกินยาฆ่าหญ้า ผู้ป่วยกินไข่แมงดาทะเลที่เป็นพิษ หรือผู้ป่วยที่กินรากของชะนางแดงเกินขนาด

รางจืด เป็นอะไรที่มากกว่ายาแก้พิษ

รางจืด เป็นยาเย็น แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใช้ปรุงเป็นยาเขียวถอนพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง

รางจืด ยังเป็นหมอผิวหนังชั้นยอด แม่หมอยามักบอกว่า อาบน้ำรางจืดต้มผิวพรรณจะผุดผ่อง รากรางจืดฝนกับน้ำซาวข้าวทาหน้า หน้าจะขาว สิว ฝ้า จะไม่มี

รางจืด ยังมีสรรพคุณ แก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่างๆ แพ้สารพิษในแม่น้ำที่น้ำเน่า แก้เริมงูสวัด ถอนพิษปวดแสบปวดร้อนจากไฟไหม้น้ำร้อนลวก ซึ่งปัจจุบันก็มีการยืนยัน จากรายงานการศึกษาที่บอกว่า รางจืดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และต้านไวรัสโรคเริมได้ดี

รางจืด‚มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอันดับต้นๆ มีแนวโน้มจะนำมาใช้ปกป้องสมองจากการทำลายของสารพิษและป้องกันพิษจากการได้รับเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง

รางจืด‚ยังเป็นยา ทำให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย แก้ซางในเด็กน้อย แก้ตับเคลื่อนตับทรุด แก้พิษที่ทำให้เกิดดีซ่าน ซึ่งก็น่าทึ่งที่การศึกษาสมัยใหม่บอกกับเราว่า รางจืดมีฤทธิ์ป้องกันตับจากการทำลายของสารพิษ

รางจืด‚ในหมู่พ่อหมอยาพื้นบ้านต่างยืนยันว่า รางจืดลดความดันโลหิตดีนัก ซึ่งก็น่าทึ่งอีกเช่นกันว่าการศึกษาในห้องทดลองพบว่า รางจืดมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต

รางจืด จึงเป็นสมุนไพรที่คนไทยควรภาคภูมิใจ ในการที่นำกลับมาใช้อย่างมั่นใจ ด้วยมีการทดสอบพิษเรื้อรังแล้ว พบว่า‚ไม่มีพิษ

เหตุผลที่ให้ รางจืด เป็น Herb of the year หรือ เป็น product champion

1. เกษตรกรมียาฆ่าแมลงตกค้างในกระแสเลือด รางจืด มีรายงานการศึกษาว่า สามารถลดปริมาณสารพิษในกระแสเลือดได้โดยวัดจากเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส

2. สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ อาทิ สารตะกั่ว ซึ่งเกิดจากเผาผลาญเชื้อเพลิง สารตะกั่วสามารถสะสมได้ โดยเฉพาะในส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้ มีรายงานการศึกษาว่า รางจืด ลดการทำลายสมองของตะกั่วและเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในสมองที่ได้รับสารตะกั่ว

3. มีประสบการณ์ของการใช้รางจืดในการช่วยชีวิตผู้ที่ได้รับสารพิษ พืชพิษ หรือสัตว์ที่เป็นพิษ ตัวอย่างเช่น คนไข้ที่กินไข่แมงดาทะเลที่เป็นพิษ ที่โรงพยาบาลชุมพร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552

4. รางจืดเป็นสมุนพรที่มีความปลอดภัยสูง ทั้งจากการที่ชาวบ้านมีการกินเป็นผัก และการศึกษาพิษเรื้อรังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

5. รางจืดมีสรรพคุณอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น การที่มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบจึงมีประโยชน์ในการแก้ผดผื่นคัน ผื่นแพ้ รางจืดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก จึงน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้เคมีบำบัดหรือป้องกันความเสื่อมของร่างกาย รางจืดยังมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่ต้องลด เลิก ยาเสพติด

6. รางจืดเป็นสมุนไพรที่มีรายงานการใช้และการวิจัยในเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่ถือว่าเป็นสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยได้

7. รางจืดปลูกง่าย เพาะพันธุ์ง่าย จึงสามารถหามาใช้ทั้งในการใช้ในระดับครัวเรือนและในระดับอุตสาหกรรม

กระชายดำ

กระชายดำ เป็นพืชล้มลุกวงศ์เดียวกับกระชาย สกุล Kaempferia เป็นหัวคล้ายขิง ว่าน หรือไพล มีชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia parviflora Wall. Ex Baker วงศ์ ZINGIBERACEAE

วิธีการปลูก…ใช้หัวหรือเหง้า พันธุ์ที่แก่จัดมีอายุประมาณ 11-12 เดือน แยกหัวโดยหักออกเป็นข้อๆ ตามรอยต่อของหัว ฝังกลบดินให้มิดแต่ไม่ลึก โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถวและระหว่างหลุมเท่ากับ 0.20×0.25 เมตร หรือ 0.25×0.30 เมตร ปลูกเสร็จแล้วใช้แกลบหว่านกลบบางๆ อีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากกระชายดำเป็นพืชดั้งเดิมของชาวเขา จึงเชื่อกันว่ากระชายดำที่ดีมีคุณภาพ จะต้องปลูกบนพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 500-700 เมตร เจริญเติบโตและลงหัวได้ดีในดินร่วนทราย มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขัง ไม่ชอบแดดจัด ชอบแดดร่มรำไร เกษตรกรจึงนิยมปลูกกระชายดำระหว่างแถวไม้ยืนต้น

การเก็บเกี่ยว…ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่ อายุเก็บเกี่ยวของกระชายดำ ประมาณ 8-9 เดือน ซึ่งจะเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม-มกราคม ในช่วงนี้สังเกตดูใบ จะเริ่มแก่มีสีเหลืองและแห้งตายลงในที่สุด การเก็บเกี่ยวเร็วกว่ากำหนดอาจมีผลต่อคุณภาพ โดยเฉพาะสีของหัวจะไม่เข้ม ซึ่งเป็นกระชายดำที่ตลาดไม่ต้องการ

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

การขุดหัวกระชาย…ถ้ายกเป็นแปลงตอนปลูก จะเก็บเกี่ยวได้ง่าย โดยใช้จอบหรือเสียมขุดหัวขึ้นมา แล้วเคาะดินให้หลุดออกจากหัวและราก เกษตรกรนิยมนำหัวกระชายดำที่ขุดได้ใส่ถุง แล้วนำไปทำความสะอาดที่บ้าน โดยการปลิดรากออกจากหัว ให้หมด ให้เหลือแต่หัวล้วนๆ โดยเฉลี่ยหัวพันธุ์ 1 กิโลกรัม สามารถให้ผลผลิตได้ 5-8 กิโลกรัม ดังนั้น 1 ไร่ จะได้ผลผลิต ประมาณ 1,000-2,000 กิโลกรัม

สารสำคัญ…สารที่พบในเหง้ากระชายดำ ได้แก่ borneol, sylvestrene ซึ่งแสดงฤทธิ์ต้านจุลชีพ และสาร 5,7-ไดเมธอกซีฟลาโวน (5,7- dimethoxyflavone = 5,7 DMF) ซึ่งแสดงฤทธิ์ต้านอักเสบ นอกจากนี้ รายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2547 พบสารพวกฟลาโวนอยด์ 9 ชนิด เช่น สาร 5,7,4″-trimethoxyflavone, 5,7,3″,4″-tetramethoxyflavone, 3,5,7,4″ ?tetramethoxyflavone เป็นต้น

ผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

1. ฤทธิ์ต้านอักเสบ

สาร 5,7-ไดเมธอกซีฟลาโวน (5,7-DMF) ที่แยกได้จากเหง้ากระชายดำ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเทียบได้กับยามาตรฐานหลายชนิด คือ แอสไพริน, อินโดเมธาซิน, ไฮโดรคอร์ติโซน และเพรดนิโซโลน จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของสารนี้ในสัตว์ทดลองด้วยวิธีการต่างๆ พบว่า สาร 5,7-DMF สามารถต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันได้ดีกว่าแบบเรื้อรัง โดยแสดงฤทธิ์ยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวจากสารคาราจีนแนนและเคโอลินได้ดีกว่าฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง granuloma จากการฝังสำลีใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ พบว่า สาร 5,7-DMF มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิด exudation และการสร้างสาร Prostaglandin อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในช่องปอดของหนูขาว (rat pleurisy)

2. ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์

สาร 5,7,4″-trimethoxyflavone และ 5,7,3″,4″ -tetramethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย ส่วนสาร 3,5,7,4″-tetramethoxyflavone และ 5,7,4″trimethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Candida albicans และแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Mycobacterium อย่างอ่อน

3. พิษต่อเซลล์มะเร็ง (cytotoxic activity) 

จากการทดสอบผลของฟลาโวนอยด์ 9 ชนิด ของกระชายดำต่อเซลล์มะเร็ง เช่น KB, BC หรือ NCI-H187 ไม่พบว่ามีสารใดทำให้เกิดพิษต่อเซลล์มะเร็งที่ทดสอบ

4. ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดง

มีรายงานการวิจัยว่า สารสกัดด้วยเอทานอลของกระชายดำมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) ละลดการหดเกร็งของลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ของหนูขาว และยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของคน

การศึกษาทางพิษวิทยา

การศึกษาพิษเรื้อรังระยะเวลา 6 เดือน ของผงกระชายดำในหนูขาว ในขนาด 20, 200, 1,000 และ 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำ พบว่า หนูที่ได้รับกระชายดำทุกกลุ่มมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อาการและสุขภาพไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมหนูที่ได้รับกระชายดำ ขนาด 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีน้ำหนักสัมพันธ์ของตับสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ อาจเนื่องจากมีน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม และมีเม็ดเลือดขาวอิโอสิโนฟิสต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังคงอยู่ในช่วงค่าปกติ ในหนูเพศเมียที่ได้รับกระชายดำ ขนาด 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีระดับคอเลสเตอรอลสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ หนูทั้งสองเพศที่ได้รับกระชายดำ 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีระดับซีรั่มโซเดียมสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังอยู่ในช่วงค่าปกติ ผลการตรวจอวัยวะทางจุลพยาธิวิทยานั้นไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ว่าเกิดจากความเป็น>พิษของกระชายดำ

รายงานการวิจัยทางคลีนิค

ยังไม่มีรายงานศึกษาวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิผลของกระชายดำในคน

สรรพคุณ

กระชายดำ มีรสขม เผ็ดร้อน บำรุงฮอร์โมนเพศชาย กระตุ้นประสาท ทำให้กระชุ่มกระชวย บำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ ชะลอความแก่ ขับลม ขับปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะอาหาร ช่วยย่อย แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เนื่องจากรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา บำรุงเลือดสตรี แก้ตกขาว ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ตามตำรากล่าวว่า กระชายดำมีสรรพคุณแก้โรคในปาก เช่น ปากเปื่อยปากเป็นแผล แก้ปวดมวนท้อง รักษาโรคปวดข้อ ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย รักษาโรคภูมิแพ้ ขับพิษต่างๆ ในร่างกาย รักษาโรคบิด เป็นต้น

จากข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์พบว่า กระชายมีฤทธิ์ ต้านจุลชีพ ต้านการอักเสบเทียบได้กับยาหลายชนิด เช่น แอสไพริน อินโดเมธาซิน และเพรดนิซิโลน แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการวิจัยสนับสนุนสรรพคุณของกระชายดำมากนัก แต่มีการใช้กระชายดำเพื่อเสริมสุขภาพกันมาก ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง ประมาณ 200-4,000 บาท/กิโลกรัม กองบรรณาธิการ เกษตรกรรมธรรมชาติ (2546) ได้รายงานผลการสัมภาษณ์ พ.ญ. เพ็ญนภา ว่าควรกินกระชายดำเป็นยาในรูปยาดอง ปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรใช้กระชายดำเกินร้อยละ 10-20 การกินแบบยาต้องไม่กินแบบต่อเนื่องยาวนาน ควรกินตามนี้ไปก่อนจนกว่ามีข้อมูลวิจัยยืนยันว่าไม่มีผลข้างเคียง และระบุถึงปริมาณที่กินได้แล้วปลอดภัย

ตามตำรายาแผนโบราณ กระชายดำ เป็นยาอายุวัฒนะ ซึ่งมีวิธีใช้ ดังนี้

กระชายดำแบบหัวสด

ใช้เหง้า (หัวสด) ประมาณ 4-5 ขีด ต่อสุราขาว 1 ขวด ดองสุราขาวดื่มก่อนรับประทานอาหารเย็น ปริมาณ 30 ซีซี หรือฝานเป็นแว่นบางๆ แช่น้ำดื่ม หรือจะดองกับน้ำผึ้ง ในอัตราส่วน 1 : 1

กระชายดำแบบหัวแห้ง

หัวแห้งดองกับน้ำผึ้งแท้ ในอัตราส่วน 1 : 1 นาน 7 วัน แล้วนำมาดื่มก่อนนอน

กระชายดำแบบชาชง

ผงแห้งกระชายดำ 1 ซอง ชงน้ำร้อน 1 แก้ว (ประมาณ 120 ซีซี) แต่งรสด้วยน้ำตาล หรือน้ำผึ้ง ตามต้องการ

อัคคีทวาร

อ้าซ่วย กินแล้วสวย ยาบำรุงผู้หญิง

สมุนไพรชนิดนี้มีการใช้มาราว 3,000 ปีแล้ว มีชื่อเป็นภาษาสันสกฤติว่า “ภรางคิ (Bharangi)” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Clerodendrum serratum (Linn.) อยู่ในวงศ์ Verbenacea อัคคีทวาร เป็นที่รู้จักในหมู่หมอยาอีสานแถวๆ สกลนคร ว่า หมากดูกแฮ้ง ส่วนหมอยาแถวๆ วาริชภูมิ จะเรียกว่า “พายสะเมา” สมุนไพรชนิดนี้ขึ้นอยู่ตามโคกทั่วๆ ไป แถวๆ อีสาน คนอีสานจะนำช่อดอกมาหมกไฟหรือย่างกินกับซุบหน่อไม้ หมกหน่อไม้ แกงหน่อไม้ ทำสุกแล้วยังมีรสชาติเหมือนกินสดๆ ทางเชียงใหม่เรียก หลัวสามเกียน ไทยใหญ่ เรียก อ้าซ่วย

อัคคีทวาร ไม้พุ่มยืนต้น ขนาดเล็ก สูง 2-3 เมตร เปลือกลำต้นบาง ผิวเรียบ สีน้ำตาลเข้ม

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกจากลำต้นตรงข้ามกันเป็นคู่แบบสลับ ใบเรียงรูปใบหอก กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวสด ขอบใบหยักฟันเลื่อยด้วยลักษณะและความสวยงามของดอก อัคคีทวารเป็นสมุนไพรที่สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ซึ่งก็ต้องขอบคุณงานมหกรรมสมุนไพรที่มีการนำสมุนไพรที่คนไม่ค่อยรู้จักแล้วมาเผยแพร่

อัคคีทวาร เป็นสมุนไพรเก่าแก่ที่หมอยาทุกภาครู้จัก ใช้เป็นยาได้ทั้งรากและใบ

ราก ของอัคคีทวารซึ่งมีรสขมเผ็ดร้อน ถูกใช้เป็นยาในหลายระบบคือ ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร ขับลม รักษาอาการเบื่ออาหาร แก้ปวดเกร็งในท้อง แก้คลื่นไส้อาเจียน ริดสีดวงทวาร จากการที่รากอัคคีทวารมีรสขมร้อนทำให้อัคคีทวารมีสรรพคุณ ช่วยทำให้เสมหะแห้ง จึงช่วยระบบทางเดินหายใจได้ดี เช่น หอบหืด ไอ ริดสีดวงจมูก (อาการอักเสบเรื้อรังของโพรงจมูก) แพ้อากาศ ทั้งยังใช้ในการแก้ไข้ การใช้รากเป็นยาจะใช้ทั้งการต้มกินหรือบดเป็นผง นอกจากนี้ ยังใช้รากสดตำผสมกับขิงและลูกผักชีละลายน้ำดื่มแก้คลื่นเหียนอาเจียน รากแห้งหรือลำต้นแห้งนิยมฝนกับน้ำปูนใสให้ข้นๆ เป็นยาเกลื้อนฝี หัวริดสีดวง ทาแผลบวมได้ดีอีกด้วย ส่วน ใบ ของอัคคีทวารมีฤทธิ์ในการแก้อักเสบ รักษาริดสีดวงทวาร รักษาโรคผิวหนัง วิธีใช้ใบของอัคคีทวารคือ การบดเป็นผงรับประทานแก้ริดสีดวงทวาร หรือจะเคี้ยวใบสดๆ รับประทานเลยก็ได้ รวมทั้งใช้ใบตากแห้งสุมไฟรมแผลฝี รมหัวริดสีดวงทวารให้ยุบฝ่อหายได้ และยังใช้ภายนอกตำพอกรักษาโรคผิวหนังพวกกลาก เกลื้อน ดูดหนอง ใช้ตำพอกแก้ปวดขัดตามข้อ แก้ปวดศีรษะเรื้อรัง ใบของอัคคีทวารยังมีสรรพคุณแก้จุกเสียดในท้องเช่นเดียวกับราก จึงนิยมใช้ต้มกินแก้ท้องอืดและใช้ใบสดโขลกเอาน้ำกินเมื่อคลอดลูกแล้ว เพื่อให้มดลูกเข้าอู่และแก้อักเสบ ใบของอัคคีทวารยังนิยมต้มกับขิงกินแก้หลอดลมอักเสบ และนอกจากนี้ ส่วนลำต้นของอัคคีทวารนอกจากจะมีสรรพคุณคล้ายๆ ใบ เนื้อไม้มีสรรพคุณในการขับปัสสาวะ ชาวบ้านจึงนิยมฝานลำต้นเป็นชิ้นบางๆ ตากแห้งต้มดื่มขับปัสสาวะ ขับนิ่ว ลดความดัน แก้ปวดท้อง แก้ไข้ป่า ส่วนผลสุกหรือดิบเคี้ยวค่อยๆ กลืนน้ำแก้คอเจ็บ แก้ไอ และนอกจากนี้แล้ว อัคคีทวารยังนิยมกรอกสัตว์พาหนะ เช่น โค กระบือ ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร จะเห็นว่าอัคคีทวารมีประโยชน์ทางยามากมาย แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดคือ การใช้เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร ปัจจุบัน มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของอัคคีทวาร พบว่า อัคคีทวาร มีฤทธิ์ต้านการแพ้ ต้านฮิสตามีน ต้านการบีบตัวของลำไส้ ลดความดันโลหิต ฆ่าเชื้อโรค ขับลม

จะเห็นได้ว่า อัคคีทวาร เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมาย เป็นผัก เป็นยา เป็นไม้ประดับ และเป็นสมุนไพรที่เก่าแก่ตัวหนึ่ง ที่หมอยาทุกภาคเคยใช้เป็นยา แต่พอมาถึงยุคนี้ ยุคที่ยาฟรี คนไม่ต้องรับผิดชอบกับสุขภาพของตัวเอง ฝากไว้กับโรงหมอ โรงพยาบาล งบประมาณเท่าไหร่จึงจะพอให้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รักษาฟรีก็ดีอยู่ที่คนไม่ถูกทอดทิ้งเวลาเจ็บป่วย แต่จะทำอย่างไรที่ไม่ใช่ว่าสุดท้ายแล้ว รัฐบาลเงินหมด ไม่มีจ่ายให้โครงการนี้ บริษัทยาจากต่างประเทศก็ยังโกยเงินกลับ แต่เราจะอยู่ได้ ถ้าเรายังมี‚ความรู้ ที่จะใช้สมุนไพรในบ้านเรา

การใช้ประโยชน์ของชาวเขา 

ชาวเขาเผ่าปะหล่อง และไทยใหญ่ ใช้ยอดอ่อนและดอกอ่อนลวกทำเป็นผักจิ้ม หรือปรุงแทนผัก ใช้รากต้มน้ำดื่มแก้นิ่ว เผ่ามูเซอใช้ใบต้มน้ำดื่มแก้กรดในท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ทั้ง 3 เผ่า และจีนฮ่อ ใช้ต้นและใบต้มอาบแก้ไข้ให้เด็ก และอาบเป็นยาบำรุงกำลังให้แก่ผู้หญิงคลอดใหม่ๆ ชาวเขาเผ่าเย้าใช้ใบสดเคี้ยวเป็นยาพอกแก้คางทูม กะเหรี่ยงขยำใบเอาน้ำทาแก้ผดผื่นคัน ใช้รากสดหรือตากแห้งต้มน้ำดื่มเป็นยาฟอกเลือด หรือใช้รากรวมกับหัวปูเลย รากมะละกอตัวผู้และหนาดต้มน้ำดื่มเป็นยาทำแท้ง ใช้ทั้งต้นสดหรือตากแห้งต้มน้ำรวมกับต้นนอโภค่ะ โด่ไม่รู้ล่ม และบัวบก ดื่มเป็นยาแก้ไข้ เผ่าอีก้อ ม้ง และมูเซอ ใช้รากและบางครั้งรวมกับรากข้าวเม่านก Tadehagi triquetrum ต้มน้ำดื่มแก้ไข้มาลาเรีย ม้ง ใช้รากต้มน้ำดื่ม สำหรับผู้ชายเพื่อกระตุ้นผสมติดในการมีลูก เผ่าอีก้อ ม้ง กะเหรี่ยง มูเซอ ลีซอ และพม่า ใช้ต้นและทั้งต้นตำเป็นพอก หรือใช้น้ำทาแก้บวม ฟกช้ำ หรือทาบาดแผลสด เป็นยาระงับเชื้อหรือรักษาแผลเปื่อย ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ แก้ไข้ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ท้องเดิน ถ่ายพยาธิตัวแบน แก้นิ่วในไต และแก้หืด นอกจากนี้ ยังใช้เป็นยากระตุ้น บำรุงกำลัง กระตุ้นให้คลอดบุตรง่าย ชาวเขาเผ่ามูเซอ เชื่อว่าผีบรรพบุรุษ ได้ให้พืชชนิดนี้สำหรับรักษาผู้ป่วยนานมานับหลายร้อยปี และจะให้ผู้ป่วยหายต้องแบ่งให้แม่วัวกินส่วนหนึ่งด้วย

การใช้ประโยชน์ของชาวบ้านพื้นล่าง

ใช้เป็นยาพื้นบ้าน รากผสมลูกผักชีต้มกินแก้คลื่นเหียน อาเจียน เข้ายาแก้ริดสีดวงทวาร ต้นตำพอกหรือใช้น้ำทาแก้กลาก เกลื้อน โรคเรื้อน ปวดศีรษะ ขัดตามข้อ ต้มน้ำดื่มแก้จุกเสียดในท้อง เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ ใบตำพอกแก้โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน ปวดศีรษะ ขัดตามข้อ ดูดหนองจากแผลเปื่อย ใบแห้งบดโรยไฟรมริดสีดวงทวาร ต้มดื่มแก้จุกเสียดในท้อง และบำรุงกำลังสตรีหลังคลอดบุตร ผลเคี้ยวกลืนน้ำแก้ไอ ต้มน้ำหยอดแก้โรคเยื่อตาอักเสบ รากและต้นฝนกับน้ำปูนใสให้ข้นเกลื่อนหัวริดสีดวงทวารให้ยุบหาย

การใช้ประโยชน์ของชาวบ้านในต่างประเทศ

แรงงานอินโดนีเซียรับประทานใบ ยามที่ต้องทำงานออกแรง โดยทั่วไปใช้ยอดอ่อนรับประทานดิบเป็นเครื่องเทศหรือปรุงเป็นน้ำดื่ม ตำส่วนผสมยาให้วัวกินเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องเดิน ในมาเลเซียคนงานรับประทานดอก ในยามทำงาน ทั้งต้นใช้ตำเป็นยาพอกแก้โรคผิวหนัง แผลคุดทะราด โรคเรื้อน อาการไข้เรื้อรัง ปวดศีรษะ และเป็นส่วนผสมของยาทาแก้ปวดตามข้อ ข้อแข็ง น้ำต้มใช้ดื่มแก้อาการปวดระดู ในอินเดียใช้รากเป็นยาแก้ไข้ ไข้รูมาติกและแก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย ใบใช้เป็นยาพอกหรือยาทาภายนอกแก้อาการปวดศีรษะ ปวดตา เมล็ดใช้แก้อาการบวมน้ำ

ว่านหอมแดง : ว่านข้าวแผ่…ชู้ของข้าว แก้หวัด บำรุงเลือด

ว่านหอมแดง เป็นไม้ล้มลุกลงหัว ใบจีบตามยาวคล้ายพัด ดอกสีขาวคล้ายๆ ดอกกล้วยไม้ สามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี หัวเป็นสีแดงถึงข้างใน ว่านหอมแดง มีลักษณะหัวคล้ายหัวหอมแดงที่เราใช้ปรุงอาหารแต่ยาวกว่า ซึ่งว่านหอมแดงเป็นพืชคนละชนิดกัน ว่านหอมแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eleutherine americana (Aubl.) Merr. ส่วน หอมแดง ที่เราใช้ปรุงอาหารมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Allium ascalonicum L.

หมอยาเมืองเลยมักจะเรียก ว่านหอมแดง ว่า ว่านข้าวแผ่ เพราะคนเมืองเลยจะปลูกไว้ตามคันนา เพื่อทำให้ข้าวออกรวงแผ่ขยายไปมากขึ้น และมักจะเปรียบเปรยว่า ว่านหอมแดง เป็น “ชู้” กับข้าว เพราะที่ไหนมีว่านหอมแดง ข้าวก็มักจะแผ่ไปหาเสมอ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีโครงการเก็บรวบรวมความรู้สมุนไพรจากหมอยาพื้นบ้านในหลายพื้นที่ ทั้งเมืองเลย ชาวเขา รวมถึงชาวไทยใหญ่ ต่างก็มีวัฒนธรรมการใช้ว่านหอมแดงใกล้เคียงกัน หมอยาบอกว่า เวลาสังเกตว่าสมุนไพรนั้นรักษาอะไรได้ ให้สังเกตจากสี หรือไม่ก็ลักษณะของสมุนไพรนั้นๆ เช่น เพชรสังฆาต มีรูปร่างเป็นท่อนๆ ใช้ต่อกระดูกได้ ตอนหลังก็มีงานวิจัยสนับสนุนมากมายว่า เพชรสังฆาต ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก จนปัจจุบันหลายบริษัทในอินเดียจำหน่ายในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงกระดูก ในส่วนของว่านหอมแดงนั้นด้วยสีแดงก็บ่งบอกว่า บำรุงเลือด โดยสามารถที่จะต้มดื่มน้ำก็ได้ หรือที่หมอยาไทยใหญ่บอกว่าถ้าจะให้ได้สรรพคุณดีต้องต้มดื่มกับเนื้อสัตว์ ซึ่งการบำรุงเลือดนั้นหมอบอกว่าไม่ได้ดีแค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับผู้ชายด้วย เพราะเลือดที่ทางเดินของอาหารและออกซิเจน การทำให้เลือดดี อวัยวะต่างๆ ก็ดี แต่การใช้ของหมอยาภาคใต้จะต่างกันไปหน่อย คือจะนำหัวของว่านหอมแดงมาดองกับน้ำผึ้งรับประทานแก้โรคตับ

นอกจากนั้นแล้ว หมอยาไทยโบราณยังรู้กันโดยทั่วไปว่า ว่านหอมแดง แก้หวัดในเด็ก โดยใช้หัวนำมาทุบให้แตก ผสมกับเปราะหอม เป็นยาสุมหัวเด็ก (โปะกระหม่อมเด็ก) รักษาอาการเด็กเป็นหวัด คัดจมูก หายใจไม่ออก และยังใช้หัวบดทาท้องเด็กแก้เด็กท้องอืด ในปัจจุบัน ว่านหอมแดง ยังไม่มีงานศึกษาวิจัยมากนัก การค้นพบในปัจจุบันที่สำคัญคือ สารสกัดกึ่งบริสุทธิ์ของว่านหอมแดงมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองในแผลที่ดื้อยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนนิซิลิน Methicillin-resistant Staphylococccus aureus (MRSA) และมีรายงานว่า สารสำคัญในว่านหอมแดงมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่เชื่อได้ว่าอีกไม่นาน ว่านหอมแดง จะเป็นที่สนใจของนักวิจัย โดยเฉพาะในสรรพคุณบำรุงเลือด เพราะโรคภัยไข้เจ็บสมัยนี้ก่อเกิดมาจากเลือดที่ไม่ดีก็มากโขทีเดียว

ผู้สนใจสมุนไพรทั้ง 4 ชนิด ที่แนะนำมา

แวะไปรับฟรีได้ ที่งานมติชน เฮลท์แคร์ 2011 ระหว่าง วันที่ 16-19 มิถุนายน 2554 เพลนนารีฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

วันที่ 16 มิถุนายน 2554 แจกต้นรางจืด 200 ต้น

วันที่ 17 มิถุนายน 2554 แจกต้นกระชายดำ 200 ต้น

วันที่ 18 มิถุนายน 2554 แจกต้นอัคคีทวาร 200 ต้น

วันที่ 19 มิถุนายน 2554 แจกต้นว่านหอมแดง 200 ต้น

ใส่ความเห็น